รู้เท่าทัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม


                ทุกคนคงรู้ดีว่า คนที่ทำผิดก็ต้องได้รับโทษตามกฎหมายไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นใครหากอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ยิ่งทำผิดมากโทษที่จะได้รับก็มากตามไปด้วย แต่ในตอนนี้ไม่เป็นอย่างนั้น เมื่อคนทำผิดที่ฆ่าคนอย่างใจดำอำมหิต อย่างกรณีที่ตากใบ คนคนนั้นไม่ได้ฆ่าด้วยตนเองแต่ฆ่าด้วยอำนาจ ใครจะไปรู้ว่าขณะเกิดเหตุการณ์คนคนนั้นอยู่หากจากที่นั้นเพียง 1 กิโลเมตร จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้พี่น้องชาวมุสลิมต้องเป็นหม้ายเกือบครึ่งหมู่บ้าน และอีกเหตุการณ์ที่แยกราชประสงค์กรณีชายชุดดำ ทุกคนคงจำได้ดีที่แอบซ่อนตามเสาไฟและพุ่มไม้ ได้ฆ่าทหาร ประชาชนอย่างเลือดเย็น เห็นอย่างนี้แล้วจะยอมหรือที่คนคนนั้นจะได้รับการล้างผิดแบบง่ายๆ สามารถเดินกลับมาเหยียบผืนแผ่นดินไทย เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นและยังมีคนบางกลุ่มที่เห็นด้วยกับการล้างผิดให้คนที่ทำผิดหรือเรียกว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่าคนกลุ่มนั้นไม่รู้จัก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมดีพอ ถ้าอย่างนั้นเรามารู้เท่าทัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมกันดีกว่า


ความหมายของนิรโทษกรรม  (Amnesty)
                ในทางกฎหมายแบ่งความหมายของนิรโทษกรรม( Amnesty) ไว้ 2 แบบคือ
                   1. นิรโทษกรรม ตามกฎหมายแพ่ง หมายถึง การกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ซึ่งกฎหมายบัญญัติว่า ไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เช่น การกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย
                   2. นิรโทษกรรม ตามกฎหมายอาญา หมายถึง การลบล้างการกระทำความผิดอาญาที่บุคคลได้กระทำมาแล้ว โดยมีกฎหมายที่ออกมาภายหลังการกระทำผิดกำหนดให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิด และให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิด


                ซึ่งกล่าวได้ว่า นิรโทษกรรม คือ การออกกฎหมายยกเลิกความผิดนั้นให้กับผู้ที่กระทำผิด  ทำให้ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ เพราะถือว่าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิด ส่วนผู้ที่ได้รับโทษไปแล้วก็พ้นจากการเป็นผู้กระทำผิด นอกจากนี้ทางการจะไม่สามารถรื้อคดีต่างๆ ที่ได้รับการนิรโทษกรรมไปแล้วกลับมาสืบสวนหาความจริงได้อีก เพราะกฎหมายนิรโทษกรรมจะทำให้การกระทำนั้นๆไม่ผิดโดยสมบูรณ์


ประเภทของกฎหมายนิรโทษกรรม
                กฎหมายนิรโทษกรรม แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ
                   1. การนิรโทษกรรมเป็นการทั่วไป หรือการนิรโทษกรรมโดยเฉพาะเจาะจง เช่น การนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำความผิดทางการเมือง (Political  Offence) ทุกประเภท หรือให้เฉพาะแก่ผู้กระทำความผิดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษโดยกำหนดไว้ชัดเจน
                   2. การนิรโทษกรรมโดยมีเงื่อนไข หรือโดยไม่มีเงื่อนไข หมายถึงว่า การนิรโทษกรรมนั้นเป็นการนิรโทษกรรมที่เด็ดขาดหรือไม่ หากเป็นการนิรโทษกรรมเด็ดขาดไม่มีเงื่อนไข ก็จะทำให้บุคคลนั้นไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดไปโดยปริยาย แต่หากเป็นการนิรโทษกรรมที่มีเงื่อนไข ผู้ที่กระทำผิดจะต้องปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ให้เรียบร้อยก่อนจึงจะได้รับการนิรโทษกรรม
                ทั้งนี้ผู้ที่มีอำนาจในการออกกฎหมายนิรโทษกรรม คือรัฐสภา เพราะถือว่าเป็นการออกกฎหมายย้อนหลัง เพื่อให้คุณแก่ผู้กระทำความผิดและต้องตราขึ้นเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้น เว้นแต่กรณีเร่งด่วน รัฐบาลสามารถตราเป็นพระราชกำหนดนิรโทษกรรมขึ้นบังคับได้ โดยต้องผ่านความเห็นชอบของฝ่ายนิติบัญญัติในภายหลัง



ข้อดีและข้อเสียของการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
                ข้อดี คือ การให้อภัยซึ่งกันและกัน เป็นการเปิดทางเพื่อสร้างความสมานฉันท์ให้บ้านเมือง เช่น หลังสิ้นสุดสงคราม ทางการอาจประกาศนิรโทษกรรมให้พลเมืองที่ร่วมกันก่อกบฏ เพื่อให้คนที่ยังหลบหนีปรากฏตัว และเป็นการกระตุ้นให้เกิดความปรองดองกันระหว่างผู้ละเมิดกับสังคม ซึ่งผู้ที่พ้นความผิดไปแล้วอาจเรียกสิทธิบางอย่างที่สูญเสียไปกลับคืนมาได้ เช่น สิทธิการเลือกตั้ง สิทธิที่จะเข้ารับราชการ
                ข้อเสีย คือ อาจเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ดีให้แก่สังคม เพราะอาจทำให้คนที่มีอำนาจไม่เกรงกลัวกฎหมาย หากทำอะไรผิดกฎหมายไปก็สามารถมาออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กลุ่มของตัวเองภายหลังได้ ซึ่งนั้นเท่ากับว่าคนที่มีอำนาจสามารถทำความผิดได้โดยไม่เกรงฟ้าอายดิน แต่ประชาชนธรรมดาทั่วไปกว่าจะได้สิทธิ์นั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก


กฎหมายนิรโทษกรรมในอดีต
                1. พ.ร.ก.นิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2475  ประกาศโดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อให้การกระทำทั้งหลายของคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่ให้เป็นการละเมิดบทกฎหมาย
                2. พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในการจัดการให้คณะรัฐมนตรีลาออก เพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476  ออกโดย พระยาพหลพลพยุหเสนา หลังทำการรัฐประหารรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา
                3. พ.ร.ก.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล พ.ศ. 2488  ออกโดย นายควง  อภัยวงศ์ เพื่อยกโทษให้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล
                4. พ.ร.บ.อนุมัติ พ.ร.ก.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล พ.ศ. 2488  ออกโดย นายควง อภัยวงศ์ เพื่อปลดปล่อยนักโทษทางการเมืองให้เป็นอิสระ
                5. พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการต่อต้านการดำเนินการสงครามของญี่ปุ่น พ.ศ. 2489  ออกโดย นายปรีดี  พนมยงค์ เพื่อยกโทษให้ผู้ที่ต่อต้านญี่ปุ่น ในช่วงที่ทหารญี่ปุ่นเข้ามายังประเทศไทย สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
                6. พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำรัฐประหาร พ.ศ. 2490  ออกโดย นายควง  อภัยวงศ์ เพื่อนิรโทษกรรมให้ผู้ที่ทำการรัฐประหารรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์  ธำรงนาวาสวัสดิ์
                7. พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ได้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475  กลับมาใช้
พ.ศ. 2494  ออกโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในครั้งที่ทำการรัฐประหารยึดอำนาจตัวเอง
                8. พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2499  ออกโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อยกโทษความผิดฐานกบฏจลาจล เนื่องในโอกาสที่พระพุทธศาสนาได้ยั่งยืนมาครบ 25 ศตวรรษ
                9. พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อวันที่ 16 กันยายน
พ.ศ. 2500  ออกโดย นายพจน์  สารสิน เพื่อนิรโทษกรรมให้ผู้ที่รัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยระบุด้วยว่า สาเหตุของการทำรัฐประหาร เนื่องจากรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีการใช้อำนาจอันไม่เป็นธรรม ทำให้ประชาชนเดือดร้อนและหวาดกลัว
                10. พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ออกโดย
จอมพลถนอม  กิตติขจร หลังจาก จอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์ ประกาศยึดอำนาจ โดยระบุว่าเป็นการรัฐประหารเพื่อกำจัดภัยคอมมิวนิสต์ที่อาจเข้ามายึดครองประเทศไทย
                11. พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2502  ออกโดย
 จอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2499
                12. พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514  ออกโดย
 จอมพลถนอม  กิตติขจร เพื่อนิรโทษกรรมให้ผู้ที่ร่วมทำการปฏิวัติ โดยครั้งนี้เป็นการปฏิวัติตัวเอง เพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่อาจเป็นอันตรายต่อชาติ และกำหนดกลไกการปกครองที่เหมาะสมเสียใหม่
                13. พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516  ออกโดย นายสัญญา  ธรรมศักดิ์ เพื่อนิรโทษกรรมให้นิสิตนักศึกษาที่เดินขบวนเรียกร้องในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
                14. พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติที่ 36/2515 ลงวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2515 ออกโดย นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อนิรโทษกรรมให้ นายอุทัย  พิมพ์ใจชน นายอนันต์  ภักดิ์ประไพ และนายบุญเกิด  หิรัญคำ
                15. พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519  ออกโดย นายธานินทร์  กรัยวิเชียร เพื่อนิรโทษกรรมให้ผู้ที่ทำการรัฐประหารในครั้งนั้น ซึ่งนำโดยพลเรือเอกสงัด  ชลออยู่  ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
                16. พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 25 และ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520  ออกโดย พลเอกเกรียงศักดิ์  ชมะนันทน์ เพื่อยกโทษให้ผู้ที่พยายามก่อรัฐประหารรัฐบาลของนายธานินทร์  กรัยวิเชียร แต่ไม่สำเร็จ
                17. พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520  ออกโดย พลเอกเกรียงศักดิ์  ชมะนันทน์ เพื่อนิรโทษกรรมให้การรัฐประหารตัวเอง
                18. พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 - 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519  ออกโดย พลเอกเกรียงศักดิ์  ชมะนันทน์ เพื่อนิรโทษกรรมให้ผู้ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519
                19. พ.ร.ก.นิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2524  ออกโดย พลเอกเปรม  ติณสูลานนท์ เพื่อนิรโทษกรรมให้กลุ่มยังเติร์กที่พยายามก่อรัฐประหารรัฐบาลพลเอกเปรม แต่ไม่สำเร็จ
                20. พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบ เพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 8 และวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528  ออกโดย พลเอกชาติชาย  ชุณหะวัณ เพื่อนิรโทษกรรมให้กลุ่มกบฏ 9 กันยา  ที่พยายามรัฐประหารรัฐบาลพลเอกชาติชาย
                21. พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2532 ออกโดย พลเอกชาติชาย  ชุณหะวัณ เพื่อนิรโทษกรรมให้ผู้ที่ได้กระทำความผิดตามกฎหมายปราบปรามคอมมิวนิสต์
                22. พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534  ออกโดย นายอานันท์  ปันยารชุน เพื่อยกโทษให้คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่กระทำการรัฐประหารรัฐบาลพลเอกชาติชาย  ชุณหะวัณ
                23. พ.ร.ก.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535  ออกโดย พลเอกสุจินดา  คราประยูร เพื่อยกโทษบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การชุมนุมพฤษภาทมิฬทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ทหารที่ปราบปรามประชาชน รวมทั้งผู้ชุมนุม


รายละเอียดพ.ร.บ.นิรโทษกรรมปี 2556
                สำหรับ พ.ร.บ. ฉบับนี้มีทั้งหมด 7 มาตรา โดยมีสาระสำคัญอยู่ที่มาตราที่ 3 และ 4 ซึ่งว่าด้วยการละเว้นโทษให้ผู้ที่ชุมนุมทางการเมืองหรือแสดงออกทางการเมือง ที่ได้กระทำการใดๆ อันเป็นผลกระทบต่อร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สิน และสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคล ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 - 10 พฤษภาคม 2554 ไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการกระทำผิดโดยสิ้นเชิง ถึงแม้จะอยู่ระหว่างการต้องคำพิพากษาหรือการรับโทษก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงทั้งหมด โดยมีรายละเอียดทั้งหมดดังนี้                  หลักการ
                      ให้มีกฎหมายว่าด้วยนิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ระหว่างวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
                   เหตุผล
                      เนื่องจากสังคมไทยที่ผ่านมาอยู่ในสภาวะที่สร้างความแตกแยกทางความคิด มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายให้แก่ชาติบ้านเมืองจนปัจจุบัน ด้วยสืบเนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองตกอยู่ในความคิดที่ไม่เคารพในระบอบประชาธิปไตย มีการชุมนุมประท้วงรัฐบาลจนนำไปสู้การยึดอำนาจการปกครอง เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549  เหตุการณ์นี้สร้างความขัดแย้งทางการเมืองและทางสังคมที่รุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนทำให้เกิดการใช้บังคับกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมสร้างความรู้สึกสับสนและไม่เท่าเทียม การเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นในทางความคิดทางการเมืองของประชาชนเป็นวงกว้าง จึงมีการชุมนุมประท้วงทางการเมืองของประชาชนจนเกิดการกระทำผิดต่อกฎหมายบ้านเมืองอันนำไปสู่การกล่าวหาและมีการดำเนินคดีกับผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมจำนวนมากทำให้ถูกจำกัดเสรีภาพและอิสรภาพในระหว่างการถูกกล่าวหาทางอาญา อันเป็นผลมาจากภาครัฐได้ประกาศและบังคับใช้กฎหมายที่เคร่งครัดและขาดความยืดหยุ่นจนเกินความจำเป็น ซึ่งสภาพปัญหาดังกล่าวได้เกิดเป็นปัญหาร้าวลึกลงไปสู่สังคมไทยในทุกระดับและนำมาซึ่งความหวั่นไหวขาดความเชื่อมั่นในการดำเนินชีวิตให้เป็นปกติสุขของประชาชนทั่วไป
                      ปรากฏการณ์ดังกล่าวสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศชาติทั้งทางด้านความมั่นคง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทย ทั้งนี้เมื่อได้คำนึงว่าการกระทำต่าง ๆ ของประชาชนที่ได้กระทำไปเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดทางการเมืองของประชาชน ซึ่งมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับความขัดแย้งในทางการเมืองอันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานทางการเมืองของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ จึงสมควรให้มีการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนในกรณีดังกล่าว เพื่อเป็นการให้โอกาสแก่ประชาชนซึ่งเป็นพลเมืองของประเทศและเป็นการรักษาคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทั้งเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตยโดยใช้หลักนิติธรรม อันจะเป็นรากฐานที่ดีต่อการลดความขัดแย้งและสร้างความปรองดองของคนในชาติ โดยต้องคำนึงถึงมูลเหตุจูงใจของการกระทำที่ประชาชนได้แสดงออกทางการเมือง เพื่อจะทำให้สังคมไทยและประเทศชาติกลับมาสู่ความสงบสุขเรียบร้อยมีความสมัครสมานสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคงและเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
                   มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน
                   มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
                   มาตรา 3 ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการชุมนุม การประท้วงหรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ไม่เป็นความผิดต่อไปและให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง
                      การกระทำในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำใด ๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว
                   มาตรา 4 เมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับแล้ว ถ้าผู้กระทำการตามมาตรา 3 วรรคหนึ่งยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาลหรืออยู่ในระหว่างการสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนผู้ซึ่งมีอำนาจสอบสวน หรือพนักงานอัยการระงับการสอบสวนหรือการฟ้องร้อง หากถูกฟ้องต่อศาลแล้วให้พนักงานอัยการ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้องหรือให้ถอนฟ้อง ถ้าผู้นั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีไม่ว่าจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นเอง ให้ศาลพิพากษายกฟ้องหรือมีคำสั่งจำหน่ายคดี ในกรณีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ถ้าผู้นั้นอยู่ระหว่างการรับโทษให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและปล่อยตัวผู้นั้น
                   มาตรา 5 การนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะเรียกร้องสิทธิ หรือประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น
                   มาตรา 6 การดำเนินการใด ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิของบุคคลซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐในการเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่ง จากการกระทำของบุคคลใดซึ่งพ้นจากความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และทำให้ตนต้องได้รับความเสียหาย
                   มาตรา 7 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ข้อเปรียบเทียบการนิรโทษกรรมในอดีตและปัจจุบัน
                จากการที่ผู้เขียนได้รู้รายละเอียดเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมมาแล้ว จะเห็นได้ว่าการนิรโทษกรรมนั้นไม่ได้เพิ่งมี แต่มีมาตั้งแต่เริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475  ซึ่งการนิรโทษกรรมแต่ละครั้งนั้นก็ล้วนแล้วแต่นิรโทษกรรมให้ผู้ที่มีความผิดเกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการก่อกบฏหรือการรัฐประหาร บุคคลที่ได้รับการนิรโทษกรรมเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นนักโทษทางการเมืองที่ปฏิรูปการปกครองของประเทศให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นและนำไปสู่การพัฒนาประเทศ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าแตกต่างจากการนิรโทษกรรมในปัจจุบัน คือ พ.ศ. 2556  ที่บอกว่าสร้างความปรองดอง เพื่อให้เกิดความสามัคคีและสมานฉันท์ให้คนในประเทศ แต่แท้ที่จริงแล้วมีจุดประสงค์อื่นแอบแฝง มีคนเคยบอกกับผู้เขียนว่า ถ้านิรโทษกรรมแล้วทำให้หนี้สินทั้งหมดของคนในประเทศเป็นศูนย์ก็จะยอมได้ แต่นี่ไม่ใช่เพราะพวกเขานิรโทษกรรมเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนไม่ได้ทำเพื่อประเทศชาติ ที่สำคัญรัฐบาลได้ออกมาให้ข่าวว่า ประชาชนบิดเบือนความจริงจากกฎหมายเดิมที่มีอยู่และกล่าวหาประชาชน นิสิต นักศึกษาที่มาทำการประท้วงคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่าโดนหลอกลวงมาบ้าง โดนจ้างให้มาประท้วงบ้าง ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ที่พวกเขาโดนหลอกมา ที่พวกเขามาประท้วงก็เพราะว่า ถ้า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมปี 2556  มีผลบังคับใช้เมื่อไรจะต้องส่งผลเสียต่อประเทศชาติแน่นอน คนที่มาประท้วงนับวันก็ยิ่งมากขึ้น เมื่อรัฐบาลเห็นมวลมหาประชาชนมาเยอะขนาดนี้แทนที่รัฐบาลจะถอน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้ออก แต่รัฐบาลก็แค่พักไว้ ที่สำคัญพักไว้ 6 ฉบับ ซึ่งจากการที่ผู้เขียนฟังนักการเมืองคนหนึ่งพูดทั้ง 6 ฉบับที่พักไว้ก็เปรียบได้แค่ขยะ 6 ถุงและไม่มีความสำคัญอะไรเลย จะทิ้งเมื่อไรก็ได้ ฉบับที่สำคัญจริงๆ คือฉบับที่ 7 ที่รัฐบาลทำอย่างนี้ก็เพราะว่าต้องการหลอกให้ประชาชนตายใจจะได้เลิกประท้วง แต่ประชาชนใช่ว่าจะให้หลอกได้ง่ายๆ เพราะถึงแม้จะพักไว้ทั้ง 7 ฉบับ หากประชาชนเลิกประท้วงเมื่อใด อีก 180 วัน รัฐบาลก็จะต้องยก พ.ร.บ.ชุดนี้มาอีกแน่นอน นี่ก็เป็นเหตุผลที่ประชนยังปักหลักประท้วงอยู่ที่ถนนราชดำเนิน ถนนแห่งประวัติศาสตร์ทางการเมืองแห่งนี้




ผลกระทบที่เกิดขึ้น ถ้า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมปี 2556  มีผลบังคับใช้
                เราก็ได้รู้มาแล้วว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมปี 2556  มีผลบังคับใช้เมื่อไหรก็จะเกิดผลเสียแน่นอน ถ้า พ.ร.บ. ฉบับนี้สร้างขึ้นมาเพื่อความปรองดองจริง ทำไมต้องไปลงความเห็นกันตี 4 ซึ่งเป็นเวลาที่ประชาชนกำลังหลับสบาย ทำแบบนี้ถือว่าไม่โปร่งใส ทำให้เกิดผลกระทบหลายด้าน ดังนี้
                   1. ด้านจิตใจของประชาชน ประชาชนรู้สึกอย่างไรเมื่อคนที่ทำผิดจะได้รับการล้างผิด แทนที่จะนำตัวไปดำเนินคดีตามกฎหมาย ถ้าคนทำผิดเป็นผู้มีอำนาจแล้วได้รับการล้างผิดก็จะทำให้คนชั่วไม่มีความเกรงกลัวต่อกฎหมาย บ้านเมืองจะสับสนวุ่นวาย และถ้ารัฐบาลคิดที่จะล้างผิดให้ผู้ที่กระทำผิดก็ต้องทั้งประเทศไม่ใช่แค่เฉพาะกลุ่ม ถึงจะเรียกสร้างความปรองดองอย่างแท้จริง
                   2. ด้านการศึกษา จะเป็นปัญหาหนักสำหรับผู้ที่เรียนนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ เพราะคณะที่อาจารย์สอนด้านนี้บอกว่าไม่รู้จะสั่งสอนลูกศิษย์อย่างไร เรียนกฎหมายไปก็ไร้ประโยชน์เมื่อมีคนทำผิดกลับโดนล้างผิด
                   3. ด้านการตัดสินคดีความและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เราก็รู้มาแล้วว่าคนที่ได้รับการนิรโทษกรรมนั้นก็เปรียบเสมอนกับว่าคนคนนั้นไม่เคยทำความผิดมาก่อนและไม่ได้รื้อฟื้นคดีต่างๆ ขึ้นมาสอบสวนคดีใหม่ได้
                   4. ด้านศีลธรรม หากทุกคนที่ทำผิดแล้วได้รับการล้างโทษ คำว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ก็จะไม่มีความหมายอีกต่อไป คนชั่วก็จะครองเมืองศีลธรรมก็ไม่อาจช่วยได้ ประเทศชาติก็จะนำไปสู่ความหายนะ



                เราก็ได้รู้กันมาแล้วสำหรับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่ง พ.ร.บ.นี้มีมาตั้งแต่อดีต พ.ศ. 2475  เพื่อนิรโทษกรรมให้กับนักโทษทางการเมือง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้นใช่ว่าจะไม่มีประโยชน์ แต่เป็นประโยชน์มากกว่าถ้าใช้ให้ถูกทาง  ไม่ใช้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตน ถ้านิรโทษกรรมและประเทศชาติบ้านเมืองดีขึ้น เศรษฐกิจของประเทศขยายตัว คงไม่มีใครชัดแน่นอน แต่ถ้านิรโทษกรรมแล้วบ้านเมืองแย่ลง ก็คงต้องเนรเทศต่อไป

อ้างอิง  http://teen.mthai.com/variety/64536.html
นางสาวอริศราวรรณ  ม่วงขาว เลขที่ 42 ม.5/1

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

About this blog

Research & Knowledge Formation

Blog Archive