โลกของคนตาบอด


คุณคิดว่าคนพิการคือใคร คุณเคยคิดไหมว่าพวกเขาใช้ชีวิตกันอย่างไร โดยเฉพาะคนที่พิการทางสายตา ที่ถือว่าเป็นหน้าต่างของหัวใจ  คนบางคนอาจบอกว่า “เป็นผู้ที่ได้ก่อกรรมทำเข็ญมาแต่ในอดีตชาติ จึงต้องมาใช้กรรมในชาตินี้” หรือคนที่เป็นหมอดูอาจบอกว่าเป็นพวกที่มีหูทิพย์ ตาทิพย์ เห็นในสิ่งที่คนอย่างพวกเราไม่เห็น” แล้วถ้าเราเป็นคนตาบอด ที่ไร้ซึ่งการมองเห็น ลองคิดดูซิว่าจะทำอย่างไรกับชีวิต จะรับมืออย่างไรกับการเปลี่ยนแปลง หรือต้องการจะเรียกร้องอะไรจากสังคมในฐานะที่เราเป็นคนตาบอด


มารู้จักคนตาบอดกัน

                ในทางการแพทย์ คนที่บกพร่อง ทางการมองเห็น หรือที่เรียกว่า คนตาบอด หมายถึงผู้ที่มองไม่เห็น หรือ พอเห็นเห็นแสง เห็นเลือนราง และมีความบกพร่องทางสายตา ทั้งสองข้าง โดยมีความสามารถในการมองเห็นได้ไม่ถึง 1/10 ของคนปกติ หลังจากที่ได้รับการรักษาและแก้ไขทางการแพทย์ หรือมีลานสายตา กว้างไม่เกิน 30 องศา โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้
                   1. ตาบอดสนิท หมายถึง คนที่ไม่สามารถมองเห็นได้เลย หรืออาจมองเห็นได้บ้างไม่มากนัก ไม่สามารถใช้สายตา หรือไม่มีการใช้สายตาให้เป็นประโยชน์ ในการเรียน การสอน หรือทำกิจกรรมได้ ต้องใช้ประสาทสัมผัส อื่นแทนในการเรียนรู้ และหากมีการทดสอบสายตาประเภทนี้ อาจพบว่าสายตาข้างดีสามารถมองเห็นได้ในระยะ 20/20 หรือน้อยกว่านั้น และมีลานสายตา โดยเฉลี่ยอย่างสูงสุดจะแคบกว่า 5 องศา
                   2.  ตาบอดไม่สนิท หรือบอดเพียงบางส่วน สายตาเลือนราง หมายถึง มีความบกพร่องทางสายตา สามารถมองเห็นบ้าง แต่ไม่เท่าคนปกติ เมื่อทดสอบสายตาประเภทนี้ จะมีสายตาข้างดี สามารถมองเห็นได้ในระยะ 20/60 หรือน้อยกว่านั้น และมีลานสายตา โดยเฉลี่ย อย่างสูงสุด จะกว้างสูงสุดไม่เกิน 30 องศา

คนตาบอดรู้สึกอย่างไร

คุณแจ็ค รณยุทธ อิงสา ซึ่งไม่ได้ตาบอดแต่กำเนิด ได้เล่าว่า “ได้สูญเสียการมองเห็นตอนอายุ 14 ปี เหตุเพราะประสบอุบัติเหตุ แต่ผลของมันทำให้จากการที่เป็นคนปกติ เมื่อตื่นขึ้นมาอีกวันก็มองไม่เห็นอะไร ทุกอย่างมันมืดไปหมด เหมือนทุกอย่างมันหยุด คิดไม่ออกว่าเกิดอะไรขึ้น หรือตัวเองนั้นฝันไป”

                หากเรามองตัวเองในช่วงอายุ 14 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังก้าวเข้าสู้วัยรุ่น เป็นวัยที่อยากเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกซอกทุกมุมไม่ว่าจะดีหรือร้าย ถ้าทุกอย่างในชีวิตกลับตาลปัตร หากเป็นตัวข้าพเจ้าเอง คงจะรับการเปลี่ยนแปลงอันเลวร้ายเหล่านี้ไม่ได้เป็นแน่

                และในมุมของน้องโรส นุ่นนิจ ถาวรรัตน์ ซึ่งเป็นผู้พิการตั้งแต่กำเนิด น้องโรสได้บอกว่า เมื่อก่อนตอนน้องโรสเป็นเด็ก มีผู้เฒ่าผู้แก่หลายคน เพื่อนๆ เด็กๆที่เรียนชั้นประถม หรือบุคคลอื่น มักจะคิดเสมอในยามที่พูดคุยกับน้องโรส มักถามไถ่ประวัติว่า “ทำไมถึงตาบอด” น้องเขาก็ตอบไปได้บ้างไม่ได้บ้าง บางคนก็จะบอกว่าที่น้องโรสเป็นอย่างนี้ อาจเกิดจากกรรมที่ทำไว้เมื่อชาติก่อนก็ได้ เมื่อน้องโรสได้ยินก็ถึงกับเดินหนีเพราะไม่สามารถรับฟังได้ เพราะ น้องโรสบอกว่า “หนูเชื่อในหลักความเป็นจริง” เมื่อไปปรึกษาพ่อ พ่อก็บอกว่ามันเป็นความเชื่อของแต่ละคนอย่าไปสนใจเลย

                ดังนั้นเมื่อมีคนมาพูดถึงกรรมของน้องโรสน้องโรสก็จะทำเฉย รับฟังแต่ก็ไม่เชื่อ เมื่อก่อนมักจะโดนล้อว่า “ตาบอด ตาบอด” ก็รู้สึกโกรธวูบหนึ่งแต่ก็เตือนตัวเองว่า “ไม่เป็นไร เขาไม่เข้าใจ” ตอนที่ไปโรงเรียนก็โดนแกล้งสารพัด แต่เมื่อโตขึ้นก็ไม่ได้รู้สึกว่าตนเองตาบอด แปลกใจในตัวเองเหมือนกัน ซึ่งตอนนี้รู้สึก เหมือนคนปกติ ไม่นึกสงสารตัวเอง และไม่นึกด้วยซ้ำว่าเป็นคนตาบอด



ทัศนคติในการดำเนินชีวิต

สำหรับทัศนคติของใครแต่ละคนไม่เหมือนกัน และสำหรับคนตาบอดจะมองว่า “โลกใบนี้กว้างใหญ่ไพศาล สวยงาม” แต่บางครั้งก็รู้สึกท้อถอย มองเห็นคนตาปกติขับรถ หรือทำงานอย่างที่ทำไม่ได้ ก็รู้สึกน้อยใจเป็นบางครั้ง แต่อารมณ์ก็เปลี่ยนไป บางครั้งก็สุข บางครั้งก็ทุกข์ ก็เป็นกันทุกคน แต่ก็จะพยายามคิดให้สุข คิดในแง่บวก เป็นคนตาบอด แต่ใจไม่ได้บอด

                ซึ่งส่วนตัวของข้าพเจ้าเองคิดว่าคนตาบอดหลายคนอาจมีทัศนคติในการใช้ชีวิตคล้ายๆกันคือ การคิดในแง่บวก มองโลกในแง่ดี เพราะคนเราจะสุขหรือทุกข์ก็อยู่ที่ความคิด ถ้าตอนนี่เรากำลังทุกข์ก็ให้อดทนเพราะอีกไม่นานความสุขก็ย่อมมาถึง ไม่มีใครที่มีความทุกข์ตลอดเวลา เพียงแค่เรารู้จักที่จะให้กำลังใจตนเอง



ข้อสงสัยเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของคนตาบอด

คนตาบอด สามารถเดินทางไปไหนมาไหนเองได้หรือเปล่า?

   โดยหลักการแล้วได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหลายประการ เช่น ทักษะในการทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อม และการเคลื่อนไหว เทคนิคในการใช้ไม้เท้าขาว หรืออุปกรณ์ช่วยในการเดินทางชนิดอื่นๆ นอกจากนี้ ยังขึ้นกับสภาพแวดล้อม เจตคติของผู้คนรอบข้าง ความคาดหวังของผู้อื่น หรือตนเองที่มีต่อความสามารถของคนตาบอดแต่ละคน

คนตาบอดอ่านหนังสือได้อย่างไร ?

                   โดยทั่วไปแล้ว คนตาบอด จะได้รับการสอนให้ใช้อักษรเบรลล์เป็นสื่อในการอ่าน / เขียนหนังสือ นอกจากนี้ ก็อาจเรียนรู้ผ่านสื่ออื่นๆ เช่น เสียง สื่ออิเลคโทรนิคส์ หรือคอมพิวเตอร์ และอักษรขยายใหญ่สำหรับคนที่เห็นเลือนรางได้

                คนตาบอดทำงานอะไรได้บ้าง?

                   แทบจะไม่ต่างจากบุคคลทั่วไป พอจะมีอยู่บ้างขึ้นอยู่กับงาน เท่าที่ปรากฏ มีคนตาบอดทำงานหลากหลายสาขา เช่น เป็นนักวิชาการ ครู อาจารย์ พนักงานบริษัท วิศวกร นักธุรกิจ นักจิตวิทยา เกษตรกรนักวิทยาศาสตร์ และ อื่นๆ แต่ที่ยังไม่ปรากฏในขณะนี้คือ อาชีพคนขับรถ ซึ่งต่อไปหากเทคโนโลยีมีความพร้อมยิ่งขึ้น เราอาจพบคนตาบอดขับรถได้ ส่วนการแล่นเรือในมหาสมุทรนั้น มีคนตาบอดพิสูจน์ให้เห็นฝีมือมาแล้วหลายคน

พูดง่ายๆคือคนตาบอดก็ใช้ชีวิตเหมือนคนตาดีทุกประการ เว้นแต่บางประการที่เขาไม่สามารถทำได้ เช่น ขับรถ หรือทำในสิ่งที่ต้องใช้ตาเป็นสำคัญ แต่อย่างอื่น ถ้าได้รับการฝึกก็สามารถทำได้ และคนตาบอดส่วนใหญ่ก็สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ทุกอย่างอย่างคนปกติทั่วไปไม่ว่าจะ อาบน้ำ ซักผ้า หรือการรับประทานอาหาร เป็นต้น



สิ่งที่คนตาบอดต้องการ?

   คือ สิทธิที่เท่าเทียมกับคนปกติ อยากให้คนอื่นคิดว่าคนตาพิการไม่ว่าจะเลือนรางหรือไม่เห็นเลยก็ตาม ก็สามารถดำรงชีวิตเฉกเช่นคนปกติได้ แต่ต้องการคำแนะนำช่วยเหลือเพียงเล็กๆน้อยๆเท่านั้น ไม่ต้องการคำเยาะเย้ยถากถาง นินทาว่ากล่าว หรือคำว่า “ น่าสงสาร ” หรือ “ น่าลำบากน่าดู ” คำพูดแบบนี้เมื่อผู้พิการได้ยินจะรู้สึกห่อเหี่ยว  แต่คนพิการต้องการได้ยินคำว่า “  ถึงตาพิการก็สามารถดำรงชีวิตเหมือนคนปกติได้ ” คำเช่นนี้คือคำที่อยู่ในแง่บวก คนที่ตาพิการหรือพิการส่วนอื่นๆ ฟังแล้วจะรู้สึกกระปรี่กระเปร่า และมีกำลังใจดำรงชีวิตต่อไป

                คนตาบอดมองไม่เห็นแล้วจะใช้ชีวิตกันยังไง

                   แน่นอนว่าการใช้ชีวิตแบบมองไม่เห็นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่คนตาบอดพิการแค่สายตา ไม่ได้พิการในการใช้ชีวิต การใช้ประสาทสัมผัสอื่นนอกจากดวงตาต่างก็เติมเต็มสิ่งที่ขาดไปได้ในชีวิตได้เป็นอย่างดี

หู : เสียง มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของคนตาบอดมาก เพราะสามารถช่วยให้คนตาบอด

จำแนกสิ่งรอบตัวได้ เช่น แยกแยะบุคคลจากเสียงพูด ช่วยในการทำงาน และเสพสิ่งบันเทิงต่าง ๆ ซึ่งแท้

จริงแล้วคนตาบอดไม่ได้หูดีกว่าคนทั่วไป เพียงแค่ต้องใช้หูในชีวิตประจำวันมากกว่าจึงสังเกตสิ่งต่าง ๆ ได้ละเอียดขึ้น เช่นบอกได้ว่าปุ่มหมายเลข 1 4 7 และ * บนโทรศัพท์ มีเสียงเหมือนกัน เช่นเดียวกับ 2 5 8 0 และ 3 6 9 # และที่น่าสนใจคือคนตาบอดสามารถทำ Ecolation ได้ คือ เมื่อคนตาบอดต้องการรู้ตำแหน่งของวัตถุที่อยู่ใกล้ ๆ พวกเขาจะทำเสียงด้วยการ เดาะลิ้น ตบมือ หรืออื่น ๆ ตามความถนัด แล้วคอยฟังคลื่นเสียงที่ตกกระทบกับวัตถุ แล้วสะท้อนกลับมายังหูและสมอง เพื่อหาตำแหน่งของสิ่งนั้น ๆ

 จมูก : กลิ่น มีความสำคัญกับคนตาบอด เช่น เวลาเดินทางไปตามสถานที่ต่าง ๆ กลิ่นเฉพาะ

ของสถานที่นั้นจะช่วยบอกตำแหน่ง และช่วยไม่ให้หลงทาง เช่น กลิ่นแอร์ แสดงว่ามีห้างสรรพสินค้าอยู่ไม่ไกล และกลิ่นยังช่วยให้พวกเขาสามารถแยกแยะชนิดของอาหารได้ด้วย

สัมผัส : คนตาบอดจำเป็นต้องใช้การสัมผัสอย่างมากในชีวิตประจำวันทั้ง การเลือกซื้อของ

จำพวกเสื้อผ้า ผักผลไม้ หรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีขนาดและบรรจุภัณฑ์ที่ไม่เหมือนกัน ไปจนถึงแยกแยะจากวัสดุรูปร่างต่าง ๆ

ปาก : บางครั้งที่คนตาบอดตกอยู่ในสถานการณ์ที่ช่วยเหลือตนเองลำบาก การเอ่ยปากถาม

คนอื่นจึงเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด

                                สมอง : คนตาบอดมีทักษะความจำเหนือชั้นกว่า เพราะ สมองด้านการมองเห็นมีการปรับตัว นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยในเยรูซาเลมพบว่า คนตาบอดมีทักษะในการจดจำตำแหน่งสิ่งของที่วางไว้ได้เป็นอย่างดี เอฮุด โซฮารี นักชีววิทยาประสาทจากมหาวิทยาลัยฮีบรูว์ อธิบายว่า การที่คนตาบอดสูญเสียการรับรู้ทางการมองเห็น ทำให้พวกเขารับรู้โลกผ่านประสบการณ์ที่มีการจัดเรียงลำดับเป็นช่วงชุด โซฮารีและคณะผู้วิจัยให้เหตุผลว่า เนื่องจากคนตาบอดใช้ยุทธศาสตร์ในการจดจำสิ่งของ ดังนั้น ยิ่งฝึกก็ยิ่งเก่ง ทำให้คนตาบอดมีทักษะในการจดจำเหนือกว่างานอื่น

                เราจะเห็นได้ว่าถึงแม้ว่าผู้พิการทางสายตาจะไร้ซึ้งดวงตาในการมองเห็น แต่ก็มีสิ่งอื่นมาทดแทนจนบางสิ่งบางอย่างสามารถใช้งานได้ดีกว่าคนตาดีๆอย่างพวกเราด้วยซ้ำไป

อะไรที่ทำให้คนตาพิการช่วยตนเองได้

                องค์ประกอบที่ทำให้คนพิการทางสายตาสามารถช่วยคนเองได้กลายเป็นคนที่ทัดเทียมกับคนปกติมีหลายประการ แต่ที่สำคัญมีอยู่ 3 ประการ คือ

1.             ครอบครัว : ครอบครัวเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยให้ผู้พิการสามารถเติบโตเป็นคนที่ช่วยตนเอง

ได้ และมีคุณภาพทัดเทียมกับคนปกติได้ เพราะการเลี้ยงดูให้ความช่วยเหลือผู้พิการอย่างเหมาะสม

2.             สังคม : หากสังคมยอมรับว่าผู้พิการสายตาก็เปรียบเสมือนคนปกติไม่ได้มีข้อแตกต่างอะไรเพียง

แค่ตาพิการเท่านั้น เราจึงปฏิบัติกับคนพิการสายตาอย่างคนปกติ

3.             ความมั่นใจในตัวผู้พิการเอง : ผู้พิการทางสายตาที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบให้ช่วยเหลือตนเองจะ

อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและเมื่อสังคมยอมรับเขาเหล่านั้นแล้ว เขาจะยิ่งมีความมั่นใจที่จะอยู่ร่วมในสังคมยิ่งขึ้น แต่ผู้พิการเองควรสร้างความมั่นใจในตนเองเช่นกัน อย่าโอนอ่อนไปกับคำเยาะเย้ย ถากถาง ถึงแม้จะรู้สึกบ้างแต่อย่าเอามาคิดจนไม่เป็นอันทำอะไร และที่สำคัญ ตัวคนพิการเองควรมีทักษะเบื้องต้นในการใช้ชีวิตด้วย จึงจะไปไหนมาไหน ทำอะไรได้เช่นเดียวกับคนปกติ



การปรับตัวของคนตาบอดและคนรอบข้าง

สิ่งสำคัญของคนตาบอดคือ ครอบครัว เพราะครอบครัวคือผู้ที่อยู่ใกล้ชิด สามารถดูแลและให้กำลังใจผู้พิการได้อย่างใกล้ชิดสำหรับผู้ที่เพิ่งจะประสบกับคำว่าพิการ ก็ยากที่จะทำใจรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ดังนั้นคนในครอบครัวไม่ควรให้คนตาบอดอยู่คนเดียว ควรพาไปทำกิจกรรมต่างๆ และอย่าทำเหมือนเขาเป็นคนพิการให้ปฏิบัติเหมือนคนปกติทั่วไปเพราะจะทำให้เขาเหล่านั้นมีกำลังใจและสามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้ง่ายขึ้น

สำหรับผู้พิการตั้งแต่กำเนิดครอบครัวก็ควรปฏิบัติกับเขาอย่างคนปกติ และฝึกฝนให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น เรียนอักษรเบลล์ หรือพาไปเรียนในโรงเรียนปกติ ที่อนุญาตให้เด็กพิเศษเรียนร่วมกับเด็กปกติได้

ส่วนตัวผู้พิการทางสายตาเองก็ควรจะมีการยอมรับและปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป พยายามมองโลกในแง่ดี เพราะสิ่งต่างๆมันเกิดขึ้นแล้วก็ย้อนกลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้ ถ้ายิ่งจมอยู่กับสิ่งเหล่านั้น ก็ไม่เป็นผลดีต่อใครทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นตัวผู้พิการเองหรือคนรอบข้าง และที่สำคัญอย่าคิดว่าตนไร้ค่า ไม่มีสิทธิเท่าเทียมผู้อื่น เพราะคนพิการก็สามารถไปโรงเรียน เรียนหนังสือร่วมกับผู้อื่นได้ และสามารถทำงานเหมืนคนปกติทั่วไปได้

และคนตาดีอย่างพวกเราก็ควรที่จะปรับตัวเข้าหาคนตาบอดเช่นกัน เพราะคนพิการทางสายตา ก็เป็นบุคคลหนึ่ง แม้ตามองไม่เห็นแต่ก็สามารถอยู่ร่วมกับคนปกติได้ หากสังคมยอมรับ และเปิดโอกาสให้เขาได้เข้ามามีบทบาทในการดำรงชีวิต ดังนั้นการเรียนรู้ที่จะช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาอย่างถูกวิธีทั้งคำพูด การพาไปไหนต่อไหน และการดูแลด้านกิจวัตรอื่นๆ เป็นสิ่งที่คนตาดีควรจะเรียนรู้ไว้บ้าง



วันไม้เท้าขาวโลก

วิชาที่สำคัญและจำเป็นมากสำหรับคนตาบอดในการเคลื่อนไหวและการเดินทางคือวิชา ความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว ซึ่ง ดร.ริชาร์ด อี ฮูเวอร์ เป็นผู้ริเริ่มและพัฒนาขึ้น ภายหลังสงคราม-โลกครั้งที่ 2 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเห็นประโยชน์และความสำคัญของไม้เท้าขาวที่มีต่อคนตาบอด ประธานาธิบดีลินดอน บี.จอห์นสัน จึงประกาศให้วันที่ 15 ตุลาคม ของทุกปีเป็นวันไม้เท้าขาวโลก (THE WHITE CANE DAY) ตั้งแต่ พ.ศ.2507 เป็นต้นมา 

ไม้เท้าขาวคืออะไร

   ไม้เท้าขาวถือเป็นสัญลักษณ์สากลของคนตาบอดทั่วโลก หมายความว่าจะเป็นที่ไหนเมื่อไรก็ตาม ถ้าพบใครถือไม้เท้าขาวเดินอยู่เราสามารถทราบได้ทันทีว่าบุคคลผู้นั้นเป็นคนตาบอด
                ประโยชน์และความสำคัญของไม้เท้าขาว

               1. เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าผู้ที่กำลังใช้ไม้เท้านั้นตาบอด

2. เพื่อป้องกันไม่ให้กระทบกับสิ่งกีดขวางที่อยู่ข้างหน้าและตกหลุมบ่อ

3. เพื่อบอกให้ทราบถึงลักษณะของพื้นผิวที่กำลังเดินอยู่

                ไม้เท้าขาวจะมีประโยชน์สูงสุดต่อคนตาบอด ต่อเมื่อคนตาบอดจะต้องได้รับการฝึกฝนการใช้จากผู้สอนที่ได้ศึกษาวิชา ความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว (Orientation and Mobility Instructor หรือ Peripatologist) มาโดยตรง เวลาที่ใช้ในการเรียน และฝึกฝนของคนตาบอดก็จะต้องนานพอที่จะแน่ใจได้ว่า เขาสามารถใช้ไม้เท้าเป็นเครื่องมือในการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ที่เขาต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอิสระอย่างแท้จริง แต่ถ้าฝึกฝนไม่เพียงพอ นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์เต็มที่แล้วยังอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวเขาด้วย



                ทุกๆคนที่อยู่ร่วมกันในสังคมย่อมต้องการความเท่าเทียม ไม่มีใครอยากจะให้ผู้อื่นมองว่าเราเป็นบุคคลที่มีความสามารถด้อยกว่า เพราะทุกคนต่างมีความรู้ ความสามารถและความเพียรพยายามเพื่อตนเองเหมือนกัน ถึงแม้ว่าบางคนจะเป็นคนพิการ ไม่ว่าจะพิการทางสายตา หรือทางใดก็ตาม แต่บุคคลเหล่านี้ก็มีสิ่งอื่นมาทดแทน มีอวัยวะอื่นที่ใช้การได้ ถึงแม้จะเป็นคนตาบอด แต่หูยังได้ยิน เท้ายังเดินได้ มือยังสามารถใช้งานได้ และตราบใดที่หัวใจยังเต้นอยู่ พวกเค้าเหล่านั้นก็เหมือนคนปกติอย่างพวกเรา เพียงแค่เราลองเปิดใจให้กว้าง หยิบยื่นโอกาส และช่วยเหลือกัน เพียงเท่านี้ก็เปรียบเหมือนการให้กำลังใจ ให้โอกาส และให้เสรีภาพแก่บุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้พิการ และก็เพื่อความสงบสุขของสังคม


อ้างอิงจาก

กองบรรณาธิการ.   (2551. 1 พฤษภาคม).  บันทึกหัวใจแกร่ง  : ด้วยแรงแห่งรัก.ชีวจิต. 10(230), 76 – 78

กองบรรณาธิการ.   (2551. 16 พฤษภาคม).  บันทึกหัวใจแกร่ง  : ด้วยแรงแห่งรัก (จบ) ก้าวสู่ชัยชนะด้วย

ความเพียร.ชีวจิต. 10(230), 74 – 76

คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2555. 17 พฤศจิกายน).  บันทึกของคนตาบอด.  [ออนไลน์].

                เข้าถึงได้จาก : http://www.med.cmu.ac.th/ ethics/story/story047.htm. (19 พฤศจิกายน 2556)

นุ่นนิจ ถาวรรัตน์ . ความหมายของคนพิการ.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:http://www.bloggang.com/

                viewblog.php?id=roseblindgirl&date. (19 พฤศจิกายน 2556)

นพดล ปัญญาวุฒิไกร. (2555. 21 พฤศจิกายน).  โลกของคนตาบอด.  [ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก : http://www.

                bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/society. (19 พฤศจิกายน 2556)

มณเทียร บูญตัน. (2549. 15 พฤศจิกายน).  มารู้จักคนตาบอดกันดีกว่า.  [ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก :

                http://witcast.wordpress.com/2006/11/15. (19 พฤศจิกายน 2556)

befresh  in I-Am. (2551. 9 กุมภาพันธ์).  โลกของผู้พิการทางสายตา.  [ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก : http://

                befresh.exteen.com/20080209/entry-15. (19 พฤศจิกายน 2556)


นางสาวษาธิยาภรณ์  เอียดทอง เลขที่ 40 ม.5/1


1 ความคิดเห็น:

ขอบคุณครับ

แสดงความคิดเห็น

About this blog

Research & Knowledge Formation

Blog Archive