หัวเราะวันละนิด  จิตแจ่มใส   จากข้อความข้างต้นคงทำให้ทุกคนปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่มีเสียงหัวเราะนั้น ช่างเป็นช่วงเวลาที่เปี่ยมไปด้วยความสบายใจ ความสนุกสนาน ที่อบอวบไปด้วยความสุข  และยังสามารถช่วยทำให้จิตใจของเราบรรเทาจากความโศกเศร้า เพื่อให้เกิดความสดใส แจ่มใสและเบิกบานได้ แล้วคุณรู้กันหรือไม่ว่า ข้อดีของเสียงหัวเราะนอกจากจะส่งผลดีต่อจิตใจและทัศนคติของคุณแล้ว เรายังสามารถที่จะ บำบัดร่างกายได้ด้วยเสียงหัวเราะ เพื่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตที่ดีของเราได้ด้วย


รู้จักการหัวเราะ

                การหัวเราะถือว่าเป็นยาอายุวัฒนะ  เมื่อมีการยิ้มหรือหัวเราะร่างกายจะผลิตฮอร์โมน ความสุขหรือ  เอ็นดอร์ฟิน   ซึ่งจะช่วยทำให้สามารถต่อสู้กับความกลัวและความเครียดได้  ระบบย่อยอาหารจะดีขึ้น กระตุ้นการเจริญอาหารและระบบต่างๆในร่างกาย ให้มีการผ่อนคลาย  การไหลเวียนของโลหิตในร่างกายดีขึ้น สามารถต่อต้านและช่วยบรรเทาอาการกังวน และอาการเจ็บปวดต่อโรคภัยไข้เจ็บต่างๆได้ ช่วยในการปรับปรุงสมดุลของฮอร์โมนต่างๆในร่างกาย  อีกทั้งยังมีการช่วยเก็บกวาดสิ่งที่ไม่ต้องการในร่างกาย เช่น คอเลสเตอรอล ไขมันส่วนเกินและระบบต่างๆจากร่างกาย และจิตใจด้วย

                การหัวเราะทำให้ความตึงเครียดผ่อนคลายลง ซึ่งสามารถให้ผลได้ดีกว่าการออกกำลังกายทุกชนิด และเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุด  ถ้าหัวเราะ 1 นาที เท่ากับได้พักผ่อนนานถึง 45 นาที  การหัวเราะจึงถือได้ว่าเป็นการออกกำลังกายชนิดหนึ่ง  ดังนั้นคนที่หัวเราะมากๆ ก็จะทำให้มีชีวิตที่ยืนยาวและสุขภาพที่แข็งแรง


เราเกิดมาแล้วก็รู้จักกับการหัวเราะกันตั้งแต่ก่อนจะพูดได้เสียอีก และผู้ใหญ่จะหัวเราะน้อยกว่าเด็ก 20 กว่าเท่า  กล่าวคือในหนึ่งวันเด็กจะหัวเราะมากกว่า 400 ครั้ง    แต่ผู้ใหญ่จะหัวเราะไม่เกินวันละ 15 ครั้ง นักปรัชญาที่สำคัญๆในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ เพลโต้ อริสโตเติ้ล ค้านท์  และฮูเม่ ต่างก็เขียนถึง การหัวเราะ กันมาแล้วทั้งนั้น แต่จนกระทั่งทุกวันนี้ เรายังแทบจะไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับการหัวเราะ มีปัญหาต่างๆมากมายที่ยังไม่มีใครตอบได้ เช่น   ผลทางกายภาพและจิตภาพโดยละเอียดจากการหัวเราะว่าเป็นอย่างไรบ้าง   ทำไมมนุษย์เราจึงมีวิวัฒนาการให้หัวเราะกันมา เรื่องตลกมันไปทำอะไรจนสะกิดให้เกิดการหัวเราะให้เกิดขึ้นมา   ผลของเรื่องตลกต่อคนเล่าและคนฟังต่างกันอย่างไร

การหัวเราะสามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ  1.การหัวเราะแบบธรรมชาติ  เกิดจากการกระตุ้นให้มีอารมณ์ขึ้น ซึ่งมักจะเป็นสิ่งที่คาดไม่ถึง สิ่งประหลาด ฯลฯ บางคนหัวเราะจนท้องแข็ง น้ำตาไหล หรือขากรรไกรค้าง และ 2.การหัวเราะบำบัด  เป็นการหัวเราะแบบรู้ตัว  คือ การทำให้เราหัวเราะได้เองโดยที่ไม่ต้องมีสิ่งกระตุ้นอารมณ์ขันแต่อย่างใด นั่นคือตัวเราเป็นฝ่ายกระทำอย่างรู้สึกตัว


การหัวเราะบำบัด

                การหัวเราะบำบัด  เป็นการหัวเราะแบบรู้ตัว  เพื่อใช้ประโยชน์จากการหัวเราะนี้กระตุ้นให้สมองหลั่งสาร เอ็นดอร์ฟิน  (Endrophin)  ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เรารู้สึกอารมณ์ดี  เบิกบานใจ  และมีความสุข    จนมีนักวิชาการบางท่านนิยามสารนี้ว่า สารสุข 

                การหัวเราะบำบัดมีหลายแบบ เช่น  Laughter  Yoga  ของข้าอินเดีย  ซึ่งเป็นการผสมผสานการหัวเราะเข้ากับระบบหายใจแบบโยคะ (Pranayama) ทุกๆ คนสามารถหัวเราะได้อย่างไม่มีเหตุผล โดยไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่มีอารมณ์ขันหรือการดูตลก การหัวเราะคือการออกกำลังกายด้วยร่างกายและสายตา ความสนุกสนาน มันสามารถเปลี่ยนไปสู่โลกความเป็นจริง จุดมุ่งหมายของโยคะหัวเราะนั้นขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับความเป็นจริงที่ว่า ร่างกายมีความแตกต่างระหว่างการหัวเราะกับการเสแสร้ง  และยังเป็นที่มาของการหัวเราะบำบัดในกว่า  40 ประเทศ หรือกลุ่มนักหัวเราะในประเทศออสเตรเลียที่เดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ  เพื่อสร้างเสียงหัวเราะให้คนทั่วไปด้วยพฤติกรรมที่ตลก

                มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร ได้คิดค้นการหัวเราะบำบัดโดยผสมผสานการควบคุมการหายใจ  การเปล่งเสียงหัวเราะ  และการบริหารร่างกายไปพร้อมๆกัน  ซึ่งเป็นการหัวเราะที่ให้ผลเชิงสุขภาพที่ดีโดยที่ไม่จะเป็นจะต้องมีอารมณ์ขัน  และใช้เวลาในการทำกิจกรรมประมาณ 2-3 ชั่วโมง


ฝึกหัวเราะด้วยตนเอง

การฝึกหัวเราะบำบัดด้วยตนเองไม่ใช่เรื่องที่ยาก  ขั้นแรกฝึกหัวเราะโดยการที่มีสิ่งภายนอกมากระตุ้นให้มีอารมณ์ขัน  เช่น  การดูภาพยนตร์ตลก  คลิปตลกต่างๆ  หรือหนังประเภทคอมเมดี้  และหัวเราะเสียงดังๆ     หลังจากนั้นก็เริ่มฝึกการหัวเราะโดยที่ไม่มีสิ่งภายนอกมาเป็นตัวกระตุ้น    โดยการแยกอารมณ์ออกจากการหัวเราะ  กล่าวคือ  เป็นการหัวเราะที่เกิดขึ้นมาโดยไม่จำเป็นต้องมีอารมณ์ขัน  หรือเข้าใจว่าการหัวเราะไม่จำเป็นต้องมาจาก ความรู้สึกตลก  เสมอไป   การหัวเราะโดยไม่มีเหตุผลนั้นอาจจะเริ่มจากการหัวเราะคิกคัก  แล้วค่อยๆหัวเราะเสียงดังขึ้นด้วยการเปล่งเสียงออกมาจากท้องผ่านมายังลำคอ และริมฝีปาก

                ถ้าหากต้องการให้การหัวเราะได้ผลที่ดียิ่งขึ้น    ก็ควรจะเปล่งเสียงหัวเราะเพื่อเคลื่อนไหวอวัยวะภายในทั้ง 4 ส่วนด้วยการเปล่งเสียงที่ต่างๆกัน    คือ  เสียง โอ   จะทำให้ภายในช่องท้องขยับ  เสียง อา   จะทำให้ภายในช่องออกเกิดการขยับขยาย  เสียง อู   และ เสียง เอ   จะทำให้ส่วนของลำคอเปิดโล่ง  และช่วยในการบริหารใบหน้า

                ขั้นตอนเริ่มจากหายใจเข้าลึกๆ กลั้นไว้สักครู่ เปล่งเสียงเป็นจังหวะ เช่น โอ โอ โอ โอ ยาวๆ จนกว่าจะหมดอากาศที่เก็บไว้ สูดหายใจเข้าใหม่ หัวเราะเสียงละ 3 ครั้ง เมื่อออกเสียงเป็นจังหวะแล้วให้บริหารร่างกายไปด้วย เริ่มจากเสียง โอ ให้ย่ำเท้าอยู่กับที่ เสียง อา ให้ยกแขนขึ้นสูงๆ แล้วโบกไปมา เสียง      อู ให้ส่ายเอวท่าฮูลาฮูบ เสียง เอ ให้หมุนหัวไหล่ โดยทำท่าเหล่านี้ในระหว่างที่หัวเราะด้วย 

ท่าหัวเราะบำบัด

1. จมูกหัวเราะ

   ย่นจมูกขึ้นและทำเสียง ฮึๆๆๆ…” ในจมูก ให้มีลักษณะเหมือนม้า ท่านี้จะสามารถช่วยไม่ให้สิ่งสกปรกในจมูกออกมาได้ และยังช่วยบำบัดภูมิแพ้ ไซนัส หวัด โดยเฉพาะบุคคลที่มีปัญหาเกี่ยวกับด้านการหายใจ ท่านี้จะช่วยทำให้จมูกโล่งขึ้นได้

2. ตาหัวเราะ

   กระพริบตาถี่ๆ และกรอกตาขึ้นลงเป็นวงกลม แล้วเปล่งเสียง อ่อยๆๆๆ…” และเล่นหูเล่นตา มองซ้ายที่ ขวาที เพื่อเป็นการบริหารดวงตาให้ผ่อนคลายจากความเหนื่อยล้าหรือความเครียด ใครที่มีปัญหาเกี่ยวกับดวงตาแห้งหรือใช้เวลาอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ท่านี้จะสามารถช่วยทำให้มีน้ำมาหล่อเลี้ยงที่บริเวณดวงตา ทำให้ดวงตาชุ่มชื้นขึ้น

3. สมองหัวเราะ

   โดยธรรมชาติของมนุษย์เมื่อเกิดความเครียดมักจะปิดปาก เป็นสาเหตุให้เกิดความดันขึ้นสมอง ท่านี้จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ โดยการปิดปากแล้วเปล่งเสียง อึๆๆๆ…” จะทำให้เกิดการสั่นสะเทือนขึ้นไปนวดสมอง เมื่อทำเสร็จแล้วจะทำให้สมองรู้สึกโล่งและโปร่งสบาย

4. ไหล่หัวเราะ

   เป็นการบริหารบริเวณช่วงของไหล่ โดยการยืนตรงแล้วส่ายไหล่ไปมาเหมือนกับการว่ายน้ำท่าฟรีสไตล์ พร้อมกับการเปล่งเสียง เอ เอะๆๆๆ…” ใครที่มีปัญหาต่างๆที่เกี่ยวกับไหล่ ท่านี้สามารถช่วยให้อาการดีขึ้นได้

5. เอวหรือก้นหัวเราะ

   เป็นการบริหารโดยการเปล่งเสียง อู เอๆๆๆ…” และขณะทำให้แขม่วท้องขมิบก้น โดยช่วงกลางลำตัวจะต้องอยู่นิ่ง ท่านี้จะสามารถช่วยในการบริหารบริเวณของไขสันหลัง ก้นและสะโพก

เสียงหัวเราะสลายเครียด

                1. หัวเราะแบบซานตาคลอส (ท้องหัวเราะ)

                   กำมือสองข้างไว้ที่อกแล้วชูนิ้วโป้งออกมา จากนั้นให้หายใจเข้าลึกๆ กักลมไว้สักครู่แล้วค่อยๆเปล่งเสียงดังออกมาจากท้องว่า โอ โอะๆๆๆ…” ไปเรื่อยๆจนกว่าลมจะหมด ขณะที่เปล่งเสียง ท้องของเราจะขยับตามไปด้วย ท่านี้จึงมีส่วนช่วยในการกระตุ้นการทำงานของระบบทางเดินอาหาร และช่วยลดอาการเบื่ออาหารได้ อีกทั้งการทำท่าชูนิ้วโป้งยังเป็นสัญลักษณ์ในการให้กำลังใจตัวเองว่า ดีมาก อีกด้วย

                2. หัวเราะอย่างเจ้าพ่อ (อกหัวเราะ)

                   กางแขนออกด้านข้างแล้วหงายฝ่ามือขึ้น จากนั้นหายใจเข้าลึกๆ กักลมไว้สักครู่ แล้วเปล่งเสียง อา อะๆๆๆ…” ไปเรื่อยๆพร้อมกับการกระพือแขนขึ้นลงเหมือนนกบิน เมื่อเปล่งเสียง อา กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก หัวใจ ปอดและไหล่จะขยับไปด้วย ส่งผลให้การสูบฉีดและการไหลเลือดในร่างกายจะดีขึ้น ส่วนในทางด้านจิตวิทยา ท่านี้จะสามารถช่วยลดความขี้อายลงได้

                3. หัวเราะแบบหมาป่า (คอหัวเราะ)

                   ยกแขนไปข้างหน้าแล้วทำมือเหมือนท่ายิงปืน จากนั้นให้สูดลมหายใจเข้าลึกๆ กักลมไว้สักครู่ แล้วเปล่งเสียง อู อุๆๆๆ…” ออกมาพร้อมกับพุ่งมือไปข้างหน้าเหมือนกำลังยิงปืนอยู่ ท่านี้จะช่วยกระตุ้นให้ลำคอสั่น จึงช่วยแก้และบรรเทาอาการเจ็บคอและปวดคอได้ นอกจากนั้นระหว่างที่เราพุ่งมือออกไปข้างหน้ายังทำให้รู้สึกมีพลังและพร้อมที่จะลุยและต่อสู้กับทุกสิ่งอีกด้วย

                4. หัวเราะเหมือนเด็กน้อย (ใบหน้าหัวเราะ)

                   กางแขนออกด้านข้างแล้วยกมือขึ้นสูงระดับคาง หายใจเข้าลึกๆ แล้วเปล่งเสียง เอ เอะๆๆๆ…” ที่เหมือนกำลังเล่นจ๊ะเอ๋กับเด็ก พร้อมทั้งเคลื่อนไหวนิ้วมือทุกนิ้วไปด้วยเมื่อพูดคำว่า เอ ใบหน้าจะมีลักษณะเหมือนกับคนกำลังฉีกยิ้ม ท่านี้จะสามารถช่วยทำให้เรามีอารมณ์ดี ลดอาการตึงเครียด และอาการปวดศีรษะ นอกจากนี้ยังเป็นท่าบริหารสมองและกล้ามเนื้อมัดเล็กที่นิ้วมืออีกด้วย

ข้อดีของการหัวเราะบำบัด

คนเราเมื่ออารมณ์ดี จะทำให้มีความคิดสร้างสรรค์ ในรายงานการตีพิมพ์ของวารสาร The Proceedings of the National Academy of Science (PNAS) ได้ตีพิมพ์งานวิจัยจากคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยโตรอนโต คานาดา บอกว่า อารมณ์ของคนเราน่าจะมีผลต่อการประมวลผลข้อมูลของสมอง ถ้าอารมณ์ดีจะช่วยขยายความคิดสร้างสรรค์ให้กว้างขึ้น แต่ในทางกลับกันถ้าอยู่ในอารมณ์หวาดวิตก กังวล เคร่งเครียด หรือแม้แต่มุ่งมั่นมากจนเกินไป จะมีผลต่อความคิด ความคิดจะหดแคบเข้ามา อารมณ์ดีหรือไม่ดีย่อมมีผลต่อกระบวนการคิดและการแก้ปัญหาในเชิงสร้างสรรค์ของคนเราทั้งสิ้น

                ประโยชน์ของการหัวเราะ

   1. ระบบทำงานของสมอง 
                    การหัวเราะ ช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์ประสาทสมองส่วนพรีฟรอนทอลคอร์เทกซ์ (prefrontal cortex) บริเวณสมองส่วนหน้า (ซึ่งสมองบริเวณนี้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมความคิดที่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาของอารมณ์เชิงบวกและลบ) ที่ทำให้เกิดการหลั่งของสารชีวเคมีตัวหนึ่งที่ชื่อว่า endorphin ซึ่งเป็นสารชีวเคมีของสมองที่มีฤทธิ์
เพชฌฆาตความเจ็บปวด หรือสารที่มีฤทธิ์ทำให้เกิดความสุข นั้นก็คือในด้านที่ส่งผลทำให้อารมณ์ดี มีอารมณ์ขัน สมองก็จะมีการถูกกระตุ้นให้มีเพิ่มพื้นที่การประมวลผลความคิดในเชิงบวกและสร้างสรรค์ มีผลทำให้ร่างกายและจิตใจได้รับการบำบัดและฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว

   2. ระบบหายใจ (Breathing)
                    ในระหว่างที่หัวเราะร่างกายมีการหายใจเข้า กลั้นหายใจ และหัวเราะ (หายใจออกยาวๆ) ทำให้ร่างกายเกิดการเปลี่ยนถ่ายออกซิเจน ฟอกเลือดดำให้เป็นเลือดแดง จึงทำให้เซลล์ประสาทหัวใจ ปอด คอ แข็งแรงขึ้น นอกจากนี้การหัวเราะยังช่วยบริหารร่างกายให้เกิดความร้อนและการเผาผลาญพลังงานสูง ช่วยฆ่าเชื้อโรคและป้องกันโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ทั้งไข้หวัด ภูมิแพ้ หอบหืด ไซนัส กรน ความดันโลหิต โรคหัวใจ โรคปอด

   3. ระบบย่อยอาหารและการขับถ่าย (Digestion and Gastrointestinal) 
                    การหัวเราะบำบัดช่วยให้อวัยวะส่วนท้อง อาทิ ลำไส้ใหญ่ เล็ก ตับ ไต ไส้ กระเพาะ มีการเคลื่อนไหว เกิดการบริหารกระเพาะและลำไส้ ทำให้ระบบย่อยอาหารและการขับถ่ายทำงานดีขึ้น ป้องกันโรคอ้วน โรคบูลิเมีย (Bulimia: โรคที่กินอาหารเข้าไปแล้วรู้สึกผิด จนบางครั้งต้องกินยาถ่าย หรืออาเจียนออก) หน้าท้องหย่อน ท้องป่อง โรคเบื่ออาหาร กินไม่ลง ท้องผูก ท้องเสีย โรคกระเพาะ โรคลำไส้ เป็นต้น

   4. ระบบไหลเวียนโลหิต (Circulation and Cardio-vascular system) 
                    การหัวเราะบำบัดเป็นการออกกำลังทุกส่วนของร่างกายทำให้อวัยวะต่างๆ ได้เคลื่อนไหวเป็นจังหวะเร็วบ้าง ช้าบ้าง หัวใจสามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ มากขึ้น หัวใจทำงานเป็นระบบขึ้น ป้องกันอาการเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ อ่อนเปลี้ยเพลียแรง เหนื่อยง่าย เหนื่อยเร็ว เจ็บแน่นหน้าอก โรคขาดเลือด เส้นเลือดหัวใจตีบตัน โรคหัวใจ ตลอดจนอาการใจสั่น เสียงสั่น ตัวสั่น ตื่นตระหนกและประหม่าง่าย

   5. ระบบพักผ่อนและผิวพรรณ (Rest and Skin system)
                    การหัวเราะบำบัดช่วยผ่อนคลายความเครียด ทำให้เส้นประสาท กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า ยืดหยุ่น ไม่ตึงหรือเกร็ง ทำให้ร่างกายเกิดการพักผ่อน นอนหลับสนิท ผิวพรรณดี ไม่เหี่ยวย่น และไม่เป็นโรคทางผิวหนัง ช่วยให้ร่างกายและจิตใจเกิดความสงบ มีสมาธิมากขึ้น

   6. ระบบเจริญพันธุ์ (Reproduction)
                    การหัวเราะบำบัดทำให้ร่างกายทุกส่วนขยับขับเคลื่อน ส่งผลต่อการทำงานของสมองส่วนนอก ส่วนกลาง และส่วนใน ให้ทำงานดีขึ้น เป็นระบบขึ้น ทำให้สมองคิดแง่ดี มองโลกแง่บวก อารมณ์ดี พัฒนาอารมณ์รัก และการมีเพศสัมพันธ์ และช่วยป้องกันอาการไร้อารมณ์ หงอยเหงา โดดเดี่ยว ไม่อยากเข้าสังคม การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และการเข้าสังคม

   7. สัญชาติญาณการอยู่รอด (Survival instinct) 
                    การหัวเราะบำบัดทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวคล่องแคล่ว แข็งแรง ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน กระตุ้นการทำงานของเซลล์ประสาท กระดูก กล้ามเนื้อ ร่างกายทำงานเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ ป้องกันโรคไขข้อ โรคกระดูกต่างๆ ทั้งกระดูกพรุน ปวดหลัง ปวดเอว อ่อนเปลี้ยเพลียแรง โรคซึมเศร้า นอกจากนี้ยังช่วยทำลายสารอนุมูลอิสระที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งอีกด้วย
                    การหัวเราะไม่ว่าจะหัวเราะแบบไหน จะด้วยวิธีทางธรรมชาติ หรือแบบหัวเราะบำบัด ประโยชน์ที่จะได้รับคือ จิตใจที่สดชื่น แข็งแรง เมื่อจิตใจดี อารมณ์ดี การที่เริ่มต้นในการทำอะไรก็ตามก็จะเป็นไปในทางที่ดีเสมอ วันนี้หากคุณหัดยิ้ม หัวเราะให้กับตัวเองบ้างคงจะเข้าที



  ผู้จัดทำ : นางสาวกัญญ์กุลณัช   ไกรนรา เลขที่ 33 ม.5/1

  อ้างอิง : http://www.arunsawat.com.
                http://www.piwdee.net.
                http://www.dmh.go.th.

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

About this blog

Research & Knowledge Formation

Blog Archive