ดื่มชาดับกระหายสลายโรค
จากเศษใบไม้ที่บังเอิญปลิวว่อนหล่นลงในกาน้ำร้อนของจักรพรรดิผู้ยิงใหญ่
กลับกลายมาเป็นต้นกำเนิดก่อเกิดวัฒนธรรมการดื่มชาอันเป็นที่แพร่หลายทั่วทุกมุมโลก
ทุกชนชั้นวรรณะทางสังคมล้วนแต่รู้จักชาเสียทั้งสิ้น ด้วยรสชาติที่หอมละมุนจากยอดชาชั้นเยี่ยม
กลิ่นไอหอมกรุ่นที่โชยมา เพียงแค่ปลายลิ้นสัมผัสก็ยากที่จะห้ามใจจนต้องลิ้มลอง
ไม่เพียงแต่ดับกระหายความรุ่มร้อนแต่ยังมาพร้อมสรรพคุณที่สลายโรคร้ายในตัวคุณได้อีกต่างหากสูตรชามากมายที่รอให้คุณได้ทำความรู้จัก เพียงแค่คุณเปิดอ่าน
มารู้จักชา
ชา มาจากพืชตระกูลคาเมเลีย ไซเนนซิส (Camellia
sinensis) ถิ่นกำเนิดอยู่ในจีนและอินเดีย
มีลักษณะเป็นพุ่ม ใบเขียว
หากปล่อยให้เติบโตเองในป่าจะให้ดอกสีขาวส่งกลิ่นหอมในฤดูใบไม้ผลิ
เมื่อดอกชาโตเต็มที่ จะให้ผลชาที่ภายในมีเมล็ดเล็กๆ หนึ่งถึงสามเมล็ด
ในการแพร่พันธุ์ ต้นชาต้องได้รับการผสมละอองเกสรกับต้นชาต้นอื่นๆ
เพื่อแลกเปลี่ยนยีนและโครโมโซมซึ่งกันและกัน เมื่อชาต้นใหม่เจริญงอกงาม
จะคงลักษณะที่แข็งแรงบางส่วนของพ่อแม่ ด้วยวิถีเช่นนี้
ต้นชาจึงเป็นพืชที่มีลักษณะเด่นเฉพาะตัวของมันเอง
ส่วนของต้นชาที่นำมาเป็นเครื่องดื่มจะอยู่ส่วนบนสุดของต้น
อันเป็นตำแหน่งของการผลิใบอ่อนและการแตกหน่อ
ซึ่งเป็นส่วนที่มีคุณภาพดีที่สุดนั่นก็คือ ชาที่มีคุณภาพดีที่สุด คือ
ชาที่ผลิตจากใบชาอ่อนและตา และเครื่องมือในการเก็บใบชาที่ดีที่สุดก็คือ
มือของมนุษย์ ซึ่งปฏิบัติต่อกันมาอย่างนี้เป็นเวลานับหลายพันปี
การผลิตใบชา
เป็นงานที่ต้องอาศัยความรู้จากประสบการณ์และความชำนาญที่สั่งสมผ่านกาลเวลา
ถ่ายทอดกันรุ่นแล้วรุ่นเล่า ผ่านปู่ถึงพ่อและลูกหลานเคล็ดลับของแต่ละตระกูล
ล้วนเป็นความลับของครอบครัวที่ไม่ถ่ายทอดข้ามสายเลือด ใบชาที่ผลิตออกมาแต่ละไร่จึงมีรสชาติและคุณภาพที่แตกต่างกัน แต่ละขั้นตอนการผลิต เทคโนโลยีใหม่ๆ
ที่เกิดขึ้นมีส่วนร่วมในการทำงานหลายขั้นตอน
แต่เคล็ดลับที่ทำให้ความสำเร็จเกิดขึ้นอยู่ที่สองมือและสมองของมนุษย์
ชาเป็นผลผลิตที่มาจากพืชชนิดเดียวกัน
ไม่ว่าจะเป็นชาจีน ชาอินเดีย ชาศรีลังกา ชาญี่ปุ่น ชาอังกฤษ
แต่กลับปรากฏว่าการชงชาที่แตกต่างกันในหลายวัฒนธรรม ทำให้เกิดชารูปแบบต่างๆ กว่า 3,000
ชนิด
แตกต่างกันทั้งกรรมวิธีการผลิตใบชา การชงชาไปจนถึงการปรุงแต่งรสชาติของชา
ต้นกำเนิดการดื่มชา
เดิมทีชาเป็นเพียงไม้พุ่มธรรมดาที่มิได้เป็นที่รู้จักมักคุ้นนำมาใช้ประโยชน์กันอย่างแพร่หลายเหมือนอย่างทุกวันนี้
มีตำนานกล่าวว่าเมื่อประมาณ 2,737 ปีก่อนคริสต์ศักราช
ขณะที่เสินหนงจักรพรรดิของจีนกำลังเสวยย้ำร้อนในถ้วยหนึ่งอยู่นั้น
ใบไม้จากต้นไม้ละแวกนั้นได้ร่วงหล่นลงในถ้วยน้ำร้อนใบนั้นของจักรพรรดิ
สีของน้ำในถ้วยก็ค่อยๆเปลี่ยนไป
จักรพรรดิจึงลองเสวยน้ำนั้นอีกครั้งและทรงประหลาดใจเป็นอย่างยิ่งว่าน้ำนั้นกลับมีรสชาติดี
และยังทรงรู้สึกสดชื่นอีกด้วย ตั้งแต่นั้นมาก็มีการพัฒนาและนำชามาดื่ม
จนชาเข้ามามีบทบาทอย่างสูงต่อวัฒนธรรมชาติเอเชียมาหลายศตวรรษ
ทั้งในฐานะเครื่องดื่มหลักในชีวิตประจำวัน ยารักษาโรคหรือแม้แต่สัญลักษณ์แสดงฐานะ
น้ำชา เป็นเครื่องดื่มที่อยู่คู่ชาวจีนมานานหลายปี
คนจีนเริ่มใช้ประโยชน์จากใบชาโดยแรกเริ่มได้เก็บเอาใบชาป่ามาทำยารักษาโรค
ภายหลังจึงได้นำมาอบแห้ง
แล้วชงเป็นเครื่องดื่มจนพัฒนากลายมาเป็นน้ำชาเช่นดังทุกวันนี้
ประเภทของชา
ในการผลิตชาทุกชนิดสามารถผลิตได้จากชาต้นเดียวกัน หากจะแยกประเภทจากกรรมวิธีการผลิตแล้วสามารถแยกง่ายๆได้เป็น
6 ประเภทคือ
ชาขาว ชาเขียว ชาเหลือง ชาอู่หลง ชาดำและชาผู่เอ่อร์
ส่วนชาสมุนไพรนั้นแท้จริงแล้วไม่ได้มีส่วนผสมจากใบชาแต่อย่างใด
หากแต่เป็นน้ำที่ชงจากสมุนไพร ใบไม้หรือดอกไม้อื่นๆ ที่ไม่มีส่วนผสมจากต้นชา แต่หากแบ่งชาที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพแล้วเราสามารถแบ่งได้เป็น
6ประเภทได้แก่ ชาดำ ชาเขียว ชาอู่หลง ชาขาว ชาอโรม่าและชาสมุนไพร ชายังถูกแบ่งประเภทจากสีของน้ำชา
จากกระบวนการผลิตหรือแบ่งจากแถบพื้นที่ที่เพาะปลูก
ซึ่งชาบางชนิดเมื่อจัดประเภทแล้วอาจอยู่ในหลายประเภทด้วยกันซึ่งอาจก่อให้เกิดความสับสน
เช่นนี้จึงกล่าวถึงชาที่เป็นที่สนใจเพียงเท่านั้น
ทำความรู้จักชาแต่ละชนิด
ดังที่กล่าวไว้ว่าชาบางชนิดถูกจัดอยู่ในหลายๆประเภทจึงเป็นการยากที่จะกล่าวถึงชาทุกชนิดและทุกประเภท
ด้วยชาแต่ละชนิดที่มีรูปลักษณ์ที่แตกต่างกันทั้งยังมีกรรมวิธีในการผลิตแตกต่างกันอีกด้วยจึงขอยกตัวอย่างชาที่น่าสนใจ
ดังต่อไปนี้
ชาเขียว
หากจะเอ่ยถึงชาเขียวแล้วคงไม่มีใครไม่รู้จักหรือไม่เคยดื่มเป็นแน่
ภายหลังจากการเก็บเกี่ยวแล้วใบชาที่ไม่ได้ถูกทิ้งให้สลดและไม่ได้บ่ม
เมื่อถูกนำมาชงจะได้เครื่องดื่มสีเขียวอ่อนที่เรียกว่า “ชาเขียว”
นั่นเอง ในกระบวนการผลิตนั้นจะใช้ระยะเวลาเพียงระยะสั้น โดยนำใบชาที่เก็บได้มาผ่านไอน้ำหรือความร้อนเพื่อยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ทันที
จากนั้นนำไปกลิ้งด้วยลูกกลิ้งและทำให้แห้งอย่างรวดเร็วและนำมาเป็นเครื่องดื่มในลำดับต่อๆไป
ใบชาเขียวนั้นจะมีสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งช่วยป้องกันรอยเหี่ยวย่น
สีผิวดำด่างและแห้งกร้าน
ชาขาว
เป็นพืชตามฤดูกาลโดยสามรถเก็บเกี่ยวได้ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ
ภายหลังจากการเก็บเกี่ยวแล้วจะคัดเลือกเฉพาะยอดอ่อนที่มีความสมบูรณ์เต็มที่ในฤดูใบไม้ผลิ
ตูมชาที่มีรูปสัญลักษณ์เหมือนเข็มและมีขนสีขาวประกายเงินปกคลุมอยู่
หลังจากนั้นตูมชาที่ถูกเก็บจะนำมาถูกทิ้งให้สลดแต่ไม่ได้บ่ม
เมื่อชงชาขาวกับน้ำร้อนจะได้ชาที่มีสีเหลืองอ่อน รสชาติหวานนุ่มนวล
กลมกล่อมและมีกลิ่นหอมเฉพาะ ประโยชน์ของชาขาวนั้นมีหลากหลาย
ตั้งแต่ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งและโรคหัวใจเหมือนชาชนิดอื่นๆแล้ว
พบว่าชาขาวอาจจะมีประโยชน์ช่วยป้องกันโรคเบาหวานอีกด้วย
เพราะพบว่าผู้ที่ดื่มชาขาวเป็นประจำ จะมี Glucose tolerance ดีขึ้น
(ความทนต่อการเพิ่มขึ้นของน้ำตาลกลูโคสในเลือด
หรือร่างกายสามารถปรับตัวให้มีการหลั่งอินซูลินออกมาควบคุมปริมาณน้ำตาลกลูโคสในเลือดได้นั่นเอง)
และยังช่วยลดคอเลสเตอรอลได้อีกด้วย
ชาเหลือง เป็นชาที่มีเฉพาะในเมืองจีนเท่านั้น
จึงไม่ค่อยได้รับความนิยมเหมือนชาชนิดอื่น
ชาชนิดนี้เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วจะนำใบชามาม้วนเก็บไว้เพื่อเก็บน้ำมันในใบชาวไว้
เพื่อทำให้รสชาติเพิ่มขึ้น สีเปลี่ยนไป เมื่อม้วนเสร็จก็จะนำไปทำให้แห้ง
เมื่อแห้งแล้วก็จะได้ชาเหลืองที่มีสีใกล้เคียงกับชาเขียว
แต่จะออกสีเหลืองกว่าเล็กน้อยเพราะชาเขียวไม่ม้วนใบชา
ชาเหลืองเหมาะสำหรับการดื่มคู่กับอาหารจีนทุกชนิด
สารที่อยู่ในชาเหลืองจะช่วยกำจัดไขมันที่มีค่อนข้างมากในอาหารจีนและช่วยส่งเสริมอาหารให้มีรสชาติดียิ่งขึ้น
ชาแดง ชาประเภทนี้มีการผึ่งใบชาให้แห้งจนได้ที่แล้วนำมานวดเพื่อให้ผิวนอกของใบช้ำ
ซึ่งเป็นการกระตุ้นสารแทนนินที่อยู่ในใบชาให้ใบชามีสีเข้ม
และมีรสฝาดขมจากนั้นนำไปหมักหรือทำปฏิกริยากับออกซิเจนร้อยละ 10 –
80 บางตำราจะจัดเป็นยาดำหรืออาจแยกอีกประเภทหนึ่ง
เมื่อชงจะได้เครื่องดื่มสีน้ำตาลแดง
ชาดำ
เมื่อเก็บเกี่ยวใบชาแล้วจะนำเอาใบชาเหล่านั้นมากองสุมไว้
เพื่อให้เกิดการหมักขณะที่หมักนั้นจะมีการบดหรือขยี้ใบชาเพื่อช่วยเร่งให้การหมักเร็วขึ้น
เมื่อหมักจนได้ตามต้องการแล้วนำใบชาไปทำให้แห้งจนมีสีน้ำตาลเข้ม ชาชนิดนี้จะมีรสชาติขมเล็กน้อย
และมีปริมาณคาเฟอีนมากที่สุดในบรรดาชาด้วยกัน (40 มิลลิกรัมต่อถ้วย)
แต่ก็ยังน้อยกว่าในกาแฟ ชาดำนั้นจะอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ
เช่น Theflavins, Thearubigins เป็นต้น
ซึ่งจะมีส่วนในการช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือดอีกด้วย มีการศึกษาพบว่า
คนที่ดื่มชาดำประมาณ 3 ถ้วยต่อวัน จะมีโอกาสเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันลดลงถึงร้อยละ
21
ชาอู่หลง
เป็นชาที่ผ่านกระบวนการหมักเพียงกึ่งหนึ่ง
จึงทำให้รสชาติและสรรพคุณอยู่ระหว่างชาดำและชาเขียว
โดยจะนำใบชามาทำให้แห้งลีบโดยใช้เวลาทั้งสิ้น 6 ชั่วโมงหลังจากนั้นนำไปกลิ้งด้วยลูกกลิ้ง
ฉีก และหมักด้วยระยะเวลาสั้นๆ ชาที่ได้จะมีสีเขียวทอง กลิ่นหอม
อร่อยนุ่มละมุนและยังชุ่มคอ แต่รสชาติจะจืดกว่าชาเขียว
ชาผู่เอ่อร์
เป็นชาที่แตกต่างจากชาชนิดอื่น กล่าวคือ ชาชนิดอื่นยิ่งเก็บนานเข้า
นับวันยิ่งเสียรสชาติแต่ชาผู่เอ่อร์ เป็นชาที่ไม่มีวันหมดอายุ เปรียบเสมือนไวน์ที่ยิ่งเก็บนานวันเท่าไหร่
รสชาติ สรรพคุณและราคายิ่งดีวันดีคืนจึงเป็น “ ชาที่แพงที่สุดในโลก” โดยใบชาจะผ่านกระบวนการหมักสมบูรณ์ ผ่านการควบคุมอุณหภูมิและความชื้น
เร่งให้ชาดิบเป็นชาสุกลักษณะชาที่เก็บไว้จะอัดแท่งเป็นก้อน
สีของชาจะเข้มมากจนดูเหมือนมีรสขม เมื่อชงแล้วจะได้สีเข้มเหมือนกาแฟ แต่รสชาตินั้น
อ่อนละมุน บางเบายิ่งเก็บนานเท่าไหร่ คาเฟอีนในชาก็ยิ่งมีน้อยลงเท่านั้น
ในมณฑลยูนานชาชนิดนี้ยังได้ชื่อว่าเป็นใบชาเพื่อสุขภาพและความงาม
ชาสมุนไพร
นับเป็นชาที่มีสรรพคุณอย่างมากโดยชาชนิดนี้มีส่วนผสมมาจากใบไม้
ดอกไม้หรือผลไม้ของพืชชนิดอื่นนำมาชงกับน้ำร้อน ไม่ได้มีส่วนผสมจากใบชาเลย
แต่หากนำไปผสมกับชาชนิดอื่นแล้วก็จะได้ชาสมุนไพรที่มีรสชาติและสรรพคุณที่ดียิ่งขึ้น
ชาอโรม่า คือ
ชาที่นำผลิตภัณฑ์ที่ให้กลิ่นหอม เช่น ลาเวนเดอร์ อบเชย(ชินนามอน) เปลือกส้ม มาผสมกับใบชาต่างๆอาจจะเป็นชาดำ
ชาขาว หรือชาเขียวก็ได้
ชาชนิดนี้อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระคล้ายกับในชาชนิดอื่นๆ
และชาอโรม่าบางชนิดที่ผสมผลไม้บางชนิด เช่นชาบลูเบอร์รี่
ก็อาจจะยิ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้นได้แต่ผลิตภัณฑ์ชาอโรม่าหรือชาแต่งกลิ่นนี้
ไม่แนะนำให้ทานแบบที่ชงสำเร็จบรรจุขวดมาขายนะคะ
เพราะชาเหล่านี้มักจะใส่น้ำตาลในปริมาณมาก
และยังมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระน้อยกว่าแบบชงเองถึง 20 เท่า
ประโยชน์และโทษของชา
สถาบันสุภาพอเมริกาพบว่า
ชาทั้งหลายล้วนมีฤทธิ์ต้านมะเร็งได้ เพราะในชามีสารคาเทชิน ( Catechins
หรือ ECGC )ซึ่งมีฤทธ์ต้านอนุมูลอิสระมากว่าวิตามินอีถึง
20 เท่าและสามารถยับยั้งการสร้างสารไนโตรซามีน
ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่เกิดจากดินประสิวในอาหารที่เกิดขึ้นเมื่อเจอกับสารอามีนในทะเล
เป็นตัวการก่อมะเร็งหลายชนิดด้วยกัน ซึ่งสารคาเทชินสามารถพบได้มากสุดในชาเขียว
ในชาเขียวมีสาระสำคัญคือ
สารโพลีฟีนอลที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านพิษและยังช่วยฆ่าเซลล์มะเร็งและยังช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งโดยไม่ทำลายเนื้อเยื่อส่วนดี
นอกจากนั้นยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ป้องกันการจับตัวของลิ่มเลือด
ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการหัวใจวายและลมชัก
ชาจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับผนังเส้นเลือดและขยายหลอดเลือด
ช่วยลดความดันและป้องกันเส้นเลือดตีบได้
การดื่มชาเป็นประจำนั้นเราจำได้รับสารคาเฟอีนจากใบชา
ซึ่งสารคาเฟอีนจากใบชานี้จะออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต
ขยายหลอดเลือดช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ป้องกันโรคหัวใจตีบตัน
บรรเทาอาการเจ็บหน้าอก รักษาโรคหวัดและอาการปวดหัวได้
นอกจากคาเฟอีนในใบชาแล้วยังมีสารโพลีฟีนอล (Polyphenol)
คาร์โบไฮเดรตและกรดอะมิโน เมื่อสารเหล่านี้ทำปฏิกิริยากับน้ำลาย ก็จะช่วยกระจายความร้อนในร่างกายออกไปพร้อมๆกับขับสารพิษออกไปด้วย
ส่วนสารอโรมาติคก็จะช่วยระงับกลิ่นปาก และป้องกันฟันผุได้อีกด้วย
ส่วนชาอู่หลงนั้นขึ้นชื่อเรื่องการลดความอ้วนโดยในชานั้นจะมีสารโอทีพีพีซึ่งช่วยลดและควบคุมไขมันในเลือด
ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ภายหลังการทานอาหารที่มีไขมันสูง ลดการดูดซึมไขมัน อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการเผาผลาญไขมัน
จึงสามารถช่วยควบคุมน้ำหนัก ป้องกันโรคอ้วนได้และยังมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง
จึงอาจช่วยลดริ้วรอย ชะลอความแก่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อมีประโยชน์ก็ย่อมมีโทษเช่นกันดังที่ว่า “สรรพสิ่งในโลกมีประโยชน์ก็ย่อมต้องมีโทษ” “เหรียญมักมีสองด้านเสมอ”
การดื่มชาก็ใช่ว่าจะมีแต่ประโยชน์เพียงอย่างเดียว
ในใบชานั้นจะมีกรดแทนนิน(Tannin Acid) ประกอบอยู่
ซึ่งจะพบในชาแดงมากกว่าชาเขียว
ยิ่งใบชาเกรดต่ำก็จะยิ่งมีกรดแทนนินสูงและยิ่งทำให้เกิดอันตรายต่อระบบทางเดินอาหาร
โดยเฉพาะเด็กๆจะมีการย่อยและดูดซึมอาหารได้ไม่เต็มที่
ซึ่งเป็นอุปสรรคในการเจริญเติบโต
นอกจากนี้แล้วในสตรีมีครรภ์หากดื่มชาแล้วย่อมเกิดโทษมากกว่าประโยชน์อย่างแน่นอน
การดื่มชาที่ผิดเวลาก็จะยิ่งส่งผลเสียต่อร่างกายของเรา
สูตร(ไม่)ลับสลายโรค
ชาสูตรบำรุงร่างกาย
ชาชนิดนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการฟื้นฟูร่างกายหลังรับการรักษาโรคต่างๆจากการผ่าตัด
ส่วนผสมที่มีก็ได้แก่ ชาขาว โสมอเมริกัน ดอกเก๊กฮวยป่าและเจียวกู้หลาน ในชาชนิดนี้
ชาขาวจะช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดไขมันและคอเลสเตอรอล อันเป็นสาเหตุการเกิดโรคมะเร็ง
เบาหวาน ช่วยควบคุมความดันเลือด ส่วนโสมจะช่วยบำรุงร่างกายซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
ดอกเก๊กฮวยป่า จะมีกลิ่นหอมอ่อนๆช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ดับพิษร้อน แก้ร้อนใน
เป็นยาแก้ปวดหลังและช่วยระบาย ส่วนเจียวกู้หลานจะมีสารแอนตี้ออกซิเดนซ์ช่วยระงับการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งและโรคเบาหวาน
อีกทั้งยังช่วยให้ร่างกายกระชุ่มกระชวย กระปรี้กระเปร่ายิ่งขึ้น
ชาขิง สู้โรคหวัด ช่วยขับลม
ขิงนับเป็นส่วนหนึ่งในสมุนไพรไทยที่มีรสและกลิ่นอันเผ็ดร้อนเป็นเอกลักษณ์
แต่ด้วยความเผ็ดร้อนนั่นทำให้ขิงกลายเป็นสุดยอดสมุนไพรที่มีฤทธิ์ช่วยบรรเทาหวัด
ช่วยย่อยอาหาร ขับลม แก้ท้องอืด
ท้องเฟ้อคลื่นไส้และลดกรดในกระเพาะอาหารได้เป็นอย่างดี
เนื่องจากเหง้าขิงมีน้ำมันหอมระเหยจากธรรมชาติที่ทำให้ขิงมีฤทธิ์ร้อน
หากไม่สบายเป็นหวัด คัดจมูกหรือไม่สบายท้อง แค่ลองดื่มชาขิงอุ่นๆสักแก้วจะรู้สึกโล่ง
สบายตัวขึ้น
ชาใบเตย ฟิตหัวใจสลายเบาหวาน
ใครที่ชอบดื่มชาเป็นชีวิตจิตใจ
ชาใบเตยนับเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดี ชาใบเตยนอกจากจะจิบเพื่อแก้กระหายแล้ว
ทางเภสัชวิทยาพบว่า การดื่มน้ำต้มรากเตยหอมมีสรรพคุณช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจ
ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิตและขับปัสสาวะ
จึงเหมาะสำหรับคนที่หัวใจมีปัญหาและผู้ป่วยเบาหวาน ส่วนคนทำงานที่เครียดง่าย
หากได้ชงชาใบเตยดื่มระหว่างวันกลิ่น
หอมอ่อนๆจะช่วยผ่อนคลายได้เลยทีเดียว
ชาลูกใต้ใบ ขับนิ่ว ฟื้นฟูตับแก้อักเสบ
ลูกใต้ใบหรือที่ทางภาคเหนือเรียกง่า
มะขามป้อมดิน เป็นพืชสมุนไพรใกล้ตัวที่พบได้ทุกภาคในประเทศไทย
ข้อมูลจากหน่วยปฏิบัติการวิจัยเคมีสารสนเทศ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ระบุว่า
ลูกใต้ใบนั้นเป็นสมุนไพรที่มีการนำไปใช้รักษาอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะมากที่สุด
โดยเฉพาะอาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ
และใช้ขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะสำหรับคนเป็นโรคเกาต์
ฉะนั้นการดื่มน้ำจากต้นลูกใต้ใบจะช่วยแก้นิ่วในถุงน้ำดีเป็นยาบำรุงตับขนานดี
โดยสารสกัดจากลูกใต้ใบมีฤทธิ์ป้องกันไม่ให้ตับถูกทำลายจากสารพิษ
ปรับระดับไขมันในตับและเยียวยาอาการตับอักเสบให้กลับมาดีขึ้น
ชาดอกคำฝอย ลดไขมันบำรุงโลหิต
สรรพคุณด้านการรักษาของดอกคำฝอยได้รับการเล่าขานกันมาแต่โบราณ
โดยคนโบราณนิยมใช้ดอกคำฝอยเป็นส่วนผสมสำหรับทำยาบำรุงโลหิต ขับระดูและแก้โลหิตเป็นพิษ
แถมยังมีผลการวิจัยพบว่า น้ำมันในดอกคำฝอยมีกรดไขมันไลโนเลอิก (Linoleic
Acid) และกรดไขมันโอเลอิก (oleic Acid)
ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวอยู่มากจึงช่วยลดไขมันเลวในเลือดได้
แต่มีข้อควรระวังเล็กน้อยคือ เนื่องจากเป็นยาบำรุงเลือดและขับประจำเดือนจึงไม่เหมาะสำหรับสตรีที่กำลังตั้งครรภ์เพราะอาจส่งผลต่อทารกที่อยู่ในครรภ์
ชามะตูม ขับเสมหะ แก้ร้อนใน
ตามความเชื่อของคนไทยแล้ว
มะตูมถือเป็นไม้มงคลเพราะใบมะตูมมีลักษณะเป็นสามแฉกคล้ายตรี ศูรของพระศิวะและถ้ามองในด้านสรรพคุณทางยา
มะตูมถือว่าเป็นสมุนไพรสารพัดประโยชน์ที่คนไทยนิยมนำมากินกันเพื่อบำรุงร่างกายมานาน
การนำผลมะตูมมาต้มเป็นน้ำชาแล้วดื่มจะช่วยให้เจริญอาหาร ขับถ่ายดีขึ้น
ขับเสมหะและแก้ร้อนในได้
ชามะตูมมีฤทธิ์ในการต้านฟรีแรดิคัลซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดมะเร็ง
ด้วยกลิ่นหอมและรสหวานตามธรรมชาติของผลมะตูม
ไม่ว่าจะดื่มแบบร้อนหรือเย็นก็ชื่นใจได้ทั้งนั้น
ชารากบัว ช่วยระบบหายใจ แก้ไซนัส
ปกติแล้วเรามักเห็นคนจีนนำรากบัวไปต้มในน้ำซุปแต่การนำรากบัวมาต้มเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรก็มีประโยชน์ไม่แพ้กัน
โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจ เช่น เป็นภูมิแพ้หรือไซนัส
ในเนื้อรากบัวมีวิตามินซี ซึ่งเป็นสารแอนตี้ออกซิเดนซ์อย่างหนึ่งที่ช่วยสร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกันจึงช่วยลดอาการเหล่านี้ได้
หรือหากเป็นวันที่อากาศร้อน ลองนำรากบัวฝานบางๆไปต้มน้ำจนเป็นสีชมพูอ่อน
เติมน้ำตาลทรายแดงอีกนิด แช่ตู้เย็นไว้สักครู่ ก่อนจะหยิบออกมาจิบระหว่างวัน
รับรองว่าจะขับความร้อนได้อยู่หมัด
ชามะนาวกระเจี๊ยบ (Lemon
Hibicus Tea )
ชาถ้วยนี้มีส่วนผสมของชาดำ
น้ำมะนาวและน้ำกระเจี๊ยบ ซึ่งจะมีทั้งกลิ่นอายของความเป็นไทยและเทศ
แถมยังมีรสเปรี้ยวกลมกล่อมมีความอร่อยอย่างลงตัว
สรรพคุณกระเจี๊ยบนั้นสามารถลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้ พร้อมปรับความดันโลหิตให้อยู่ในภาวะปกติ
เหมาะสำหรับพวกที่มีความดันสูงมาก อีกทั้งยังช่วยบำรุงหัวใจ แก้กระหายน้ำ
ขับปัสสาวะ เป็นยาระบายอ่อนๆและแก้ร้อนในอีกด้วย
ส่วนน้ำมะนาวมีความเป็นกรดอ่อนๆช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบย่อยอาหาร ลดอาการท้องอืด
ท้องเฟ้อ ช่วยให้ชุ่มคอและป้องกันกลิ่นปาก
ชาเปปเปอร์มินต์ (Peppermint
Tea)
ชาชนิดนี้จะมีกลิ่นหอมพิเศษกว่าชาชนิดอื่น
เมื่อสูดดมแล้วจะช่วยลดอาการปวดหัว เมารถ เมาเรือและยังทำให้หลับง่าย
อีกทั้งยังช่วยขจัดกลิ่นปาก
สารที่อยู่ในเปปเปอร์มินต์จะมีฤทธิ์เมื่อเข้าสู่ร่างกายคือจะฆ่าเชื้อโรคและไวรัสได้
มีฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระอย่างเห็นได้ชัด แถมยังต้านมะเร็งและสารก่อภูมิแพ้บางตัวได้อีกด้วย
ชาอบเชยหรือชาชินนามอน
อบเชยเป็นพืชที่มีแทนนินสูง มีรสฝาด
แพทย์แผนไทยจึงนิยมนำเอาอบเชยไปผสมลงในยาหอมต่างๆ ใช้แก้อาการจุกเสียด
แน่นท้องหรือใช้ในการทำยานัตถุ์ สูดดมแล้วสดชื่น ลดอาการอ่อนเพลีย
กินแก้โรคท้องร่วงเพราะมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร ขับปัสสาวะ
ช่วยย่อยอาหารและสลายไขมัน นอกจากนี้อบเชยยังช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้เป็นโรคเบาหวานอีกด้วย
ชาตะไคร้เตยหอม
ตะไคร้
พืชข้างบ้านเราที่นอกจากจะทำสารพัดอาหารคาวได้แล้ว
ยังสามารถนำมาทำเป็นชาได้อีกด้วย
บวกกับความหอมของกลิ่นใบเตยแล้วยากที่จะไม่ลิ้มลอง สรรพคุณคือช่วยดับกระหาย
คลายร้อนและขับเหงื่อ ขับปัสสาวะได้เป็นอย่างดีช่วยทำให้ตาสว่างบรรเทาอาการอาเจียน
วิงเวียนและขับสารพิษออกจากร่างกาย
ชาอัญชัน
ดอกอัญชัน
ได้ชื่อว่าเป็นสมุนไพรพื้นบ้าน ที่คนนิยมในสมัยก่อนแต่ถูกลืม
เพราะมีประโยชน์หลากหลาย ในดอกอัญชันมีสารแอนโธไซยานิน ซึ่งมีคุณสมบัติเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดขนาดเล็กทำให้เลือดไปเลี้ยงรากผมและนัยน์ตามากขึ้น
มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติ
มีคุณค่าทางสมุนไพรช่วยปลูกผมบำรุงตา ลดอาการของโรคทางสายตา แก้ตาฟาง ตาแฉะ
ปรุงเป็นยาขับปัสสาวะ
ชาเกลือ การดื่มน้ำชาที่ผสมเกลือบางๆ
สามารถรักษาไข้หวัด แก้ไอ ร้อนในและปวดฟัน
ชาน้ำส้มสายชู
การดื่มน้ำชาที่เจือด้วยน้ำส้มสายชู จะบำรุงกระเพาะอาหาร แก้มาลาเรีย และปวดฟัน
ชานม
ต้มน้ำนมที่ใส่น้ำตาลกรวดขาวให้เดือด แล้วผสมด้วยน้ำชา จะได้ช่วยลดความอ้วน
บำรุงม้าม และให้สมองสดชื่น
ชาน้ำผึ้ง
การดื่มน้ำชาที่ชงน้ำผึ้งและใบชาด้วยกัน จะสามารถแก้การกระหายน้ำ บำรุงเลือด
ทำให้ปอดชุ่มชื่น บำรุงไต และแก้ท้องผูก
เกร็ดเด็ดๆเคล็ด(ไม่)ลับ
ประโยชน์ที่มากมายของชาส่งผลให้มีผู้คนนิยมดื่มชาเพิ่มมากขึ้นแต่ก็มักมีการดื่มชาแบบผิดๆซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายผู้ดื่มจึงขอเสนอเคล็ดลับการดื่มชาให้ได้ผลดีต่อร่างกายมาฝากกันดังนี้
การชอบดื่มชาใหม่
เนื่องจากชาใหม่เก็บมาเป็นเวลาสั้น มีสารที่ยังไม่ออกซิไดซ์หลายอย่าง ซึ่งจะระคายเคืองกรดเคลือบในกระเพาะอาหารและลำไส้จนทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร
ดังนั้น ไม่ควรดื่มชาใหม่ที่เก็บมาไม่ถึง 15 วัน
ดื่มน้ำชาที่ชงเป็นครั้งแรก
เนื่องจากยาฆ่าแมลงและสารพิษอาจค้างอยู่บนใบชา ดังนั้น
น้ำชาที่ชงเป็นครั้งแรกเป็นน้ำล้างชา ไม่ควรดื่ม
ดื่มน้ำชาขณะท้องว่าง
จะทำให้น้ำย่อยในกระเพาะอาหารจางลง
และทำให้สารที่ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพเข้าสู่เลือด จะเกิดอาการเวียนหัว ใจหวิว
มือเท้าชาและการดื่มน้ำชาหลังอาหาร
เมื่อกรดฟอกหนังในใบชาผสมกับธาตุเหล็กในอาหารแล้วจะละลายได้ยาก
ถ้าทำติดต่อเป็นเวลานานจะทำให้ร่างกายขาดธาตุเหล็กจนเป็นโรคโลหิตจาง
จากการคัดสรรยอดใบชาคุณภาพดีผ่านกระบวนการกรรมวิธีที่สืบต่อกันมารุ่นต่อรุ่นจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มในอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดี
ชามีมากมายหลายประเภทแต่ละประเภทก็ล้วนมีกระบวนการผลิตและสรรพคุณที่แตกต่างกัน การนำชามาผสมผสานกับสมุนไพรพื้นบ้านใกล้ตัวเราได้เพิ่มสรรพคุณการรักษาโรคได้ดียิ่งขึ้น
ไม่เพียงแต่สรรพคุณที่ดีต่อร่างกายผู้ดื่มแต่ยังช่วยขจัดความอ่อนล้า
เพิ่มความสดชื่นให้ร่างกาย
ชาจึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะเป็นเครื่องดื่มยามว่างของผู้รักสุขภาพแต่หากดื่มมากเกินไปหรือผิดวิธีก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายเช่นเดียวกัน
เพื่อสุขภาพที่ดีจึงควรดื่มชาให้ถูกหลักแล้วคุณจะเพลินเพลินกับการดื่มชาเลยทีเดียว
นางสาวพัชรินทร์ วงศ์รอด เลขที่ 25 ม.5/1
อ้างอิงมาจาก
มนัสวี แสงวิเชียรกิจ,วิริยา บุญม่วง. (2556, พฤษภาคม). ดื่มชาดับกระหายสลายโรค. ชีวจิต. 15(350),28-33.ศัลยา คงสมบูรณ์เวช. (2556,กันยายน). ชาอู่หลง ชาเพื่อสุขภาพ ลดไขมัน. ชีวจิต. 6(125),3.
ทีมงาน Drink tea like. 10 สุดยอดชาจีน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.drinktealike.com/web/details.php? id_detail=10. (11 พฤศจิกายน 2556)
ทีมงานพัฒนาเว็บไซต์ สำนักหอสมุดกลาง. สนเทศน่ารู้ชา. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.lib.ru.ac.th/tea/cha/html. (11 พฤศจิกายน 2556)
อาสาสมัครวิกิพีเดีย. ชา. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:http://www.wikipedia.org/wiki/ชา.(8 พฤศจิกายน 2556)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น